ในงานเลี้ยงสังสรรค์ ปาร์ตี้สุดสัปดาห์ งานวัด งานบุญ งานบวช งานแต่ง และฉิ่งฉับทัวร์ เรามักจะได้ยินเพลงจังหวะสามช่าเปิดขึ้นเพื่อสร้างบรรยากาศสนุกสนานให้กับผู้ร่วมงาน เมื่อเพลงจังหวะสามช่าดังขึ้นครั้งใด หลายคนรู้สึกคึกคัก อดไม่ได้ที่จะขยับแข้งขยับขาตาม เราจะได้ยินเพลงสามช่าถี่ขึ้นในช่วงเทศกาลต่าง ๆ อาทิ ปีใหม่ สงกรานต์ ซึ่งอาจได้ยินตั้งแต่เช้ายันดึกดื่นเที่ยงคืน เมื่อจังหวะสามช่าแทรกซึมอยู่ในชีวิตมากขนาดนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ใครหลายคนสถาปนาจังหวะสามช่าให้เป็นจังหวะประจำชาติไทย !!!
คนไทยเรียกจังหวะ “สามช่า” ขณะที่สากลเรียก “ช่าช่าช่า” (Cha Cha Cha) เป็นจังหวะที่ได้รับการพัฒนามาจากจังหวะ “แมมโบ้” (MAMBO) เป็นหนึ่งในจังหวะสำหรับการเต้นรำหรือลีลาศในประเภทลาตินอเมริกา จังหวะชะชะช่าเกิดขึ้นในประเทศคิวบา ราว พ.ศ. 2493 ก่อนจะค่อย ๆ เข้าไปยังสหรัฐอเมริกา แล้วแพร่หลายในทวีปยุโรปในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จากนั้นก็ได้รับความนิยมอย่างจริงจังทั่วโลกในช่วง พ.ศ. 2499 การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดจากอิทธิพลของดนตรีที่พัฒนาไป ทำให้การเต้นรำพัฒนาตามไปด้วย
ชะชะช่าเข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกในฐานะดนตรีเต้นรำ ว่ากันว่านักดนตรีชาวฟิลิปปินส์ชื่อมิสเตอร์เออร์นี่ แห่งวง “ซีซ่า วาเลสโก” เป็นผู้นำจังหวะชะชะช่ามาเผยแพร่ในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2498 ซึ่งนับว่าทันสมัยมากเพราะทั่วโลกก็เพิ่งจะรู้จักจังหวะดังกล่าว ดนตรีจังหวะชะชะช่าพร้อมลีลาการเต้นประกอบการเขย่าลูกแซ็กของมิสเตอร์เออร์นี่เป็นที่ประทับใจนักลีลาศชาวไทยสมัยนั้น และมีอิทธิพลต่อดนตรีและลีลาศมาจนถึงทุกวันนี้
จังหวะชะชะช่าถูกนำมาใช้ในเพลงไทยตั้งแต่สมัยที่เริ่มมีการแบ่งแยกเพลงไทยเดิมกับเพลงไทยสากล มีการนำเพลงไทยเดิมมาเรียบเรียงดนตรีใหม่ใส่จังหวะชะชะช่าเพื่อใช้ในการเต้นรำ เช่น เพลงลาวดำเนินทราย เพลงลาวสมเด็จ บรรเลงโดยวงศรีกรุงช่วง พ.ศ. 2500 ส่วนเพลงจังหวะชะชะช่าของวงสุนทราภรณ์ ที่ยังคงได้รับความนิยมจนจนถึงปัจจุบัน เช่น สุขกันเถอะเรา, ช่าช่าช่าพาเพลิน, เริงลีลาศ เป็นต้น
แม้ว่าดนตรีไทยสากลจะรับเอาจังหวะจากต่างชาติ ๆ มาใช้มากมาย เช่น จังหวะสโลว์ จังหวะบีกิน จังหวะโบเรโล จังหวะแทงโก้ จังหวะรุมบ้า จังหวะออฟบิท จังหวะวอลซ์ จังหวะร็อคแอนด์โรล แต่ดูเหมือนว่าจังหวะชะชะช่า จะเข้ากับจริตคนไทยส่วนใหญ่ที่รักสนุกมากที่สุด เพราะเอกลักษณ์ของดนตรีจังหวะชะชะช่าคือ แสดงออกถึงความเบิกบาน สนุกสนาน เร้าใจ
นอกจากเพลงของวงสุนทราภรณ์, สุเทพ วงศ์กำแหง, ชรินทร์ นันทนาคร, ธานินทร์ อินทรเทพ, สุรพล สมบัติเจริญ, ชาย เมืองสิงห์, สายัณห์ สัญญา, ยอดรัก สลักใจ, พุ่มพวง ดวงจันทร์ ขยับ ไล่เรียงตามยุคมาอีก เช่น วงคาราบาว, พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ, อัสนี-วสันต์, เบิร์ด ธงไชย มาจนถึงโจอี้ บอย ศิลปินดังในแต่ละยุคทุกคนล้วนแต่มีเพลงฮิตที่ใช้จังหวะชะชะช่าด้วยกันทั้งสิ้น และไม่มีข้อกังขาว่าจังหวะนี้เข้าถึงคนไทยได้มากขนาดไหน เพราะทั้งเพลงลูกกรุง ลูกทุ่ง เพื่อชีวิต ป็อบ ร็อค ล้วนโดนชะชะช่าแทรกซึมไปทุกแนว
ไม่เพียงแค่ความบันเทิง จังหวะชะชะช่ายังถูกนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วง พ.ศ. 2547-2557 โดยดนตรีที่นำมาใช้ในการชุมนุมของแต่ละกลุ่มมีความใกล้เคียงกันคือ มีรูปแบบ เนื้อร้องที่กระชับเข้าใจง่าย มีเนื้อหาเกี่ยวกับอุดมการณ์และวิธีการต่อสู้ของกลุ่ม มีการกำหนดทำนองเพลงให้สอดคล้องกับเนื้อหาของบทเพลง โดยเพลงจังหวะสามช่าที่นำมาร้องมาเล่นในการชุมนุมมักเป็นเพลงที่มีเนื้อหาพูดถึงความสามัคคี การช่วยเหลือเกื้อกูลภายในกลุ่ม เป็นต้น
ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าในระยะหลังมานี้ แม้ว่าเพลงต้นฉบับของศิลปินจะไม่ใช่จังหวะชะชะช่า แต่ถ้าเป็นเพลงฮิตเพลงดังของสังคมในช่วงนั้น ๆ ก็จะถูกนำไป “รีมิกซ์สามช่า” อาทิ เพลงแสงสุดท้าย-วงบอดี้สแลม เพลงประเทศกูมี- Rap Against Dictatorship ก็ถูกนำไปรีมิกซ์เพิ่มดีกรีความมันส์ในการแดนซ์ของสายย่อทั้งหลาย แม็กซ์ เจนมานะ เจ้าของเพลง “วันหนึ่งฉันเดินเข้า” ซึ่งเพลงฮิตของเขาก็ถูกนำไปรีมิกซ์สามช่าด้วยเช่นกัน เคยให้สัมภาษณ์ประมาณว่าการที่เพลงของเขาถูกนำไปรีมิกซ์สามช่า แสดงว่าเพลงของเขาเข้าถึงคนไทยแล้ว “ผมเคยพูดตอนเด็ก ๆ ว่า ถ้าวันหนึ่งเพลงกูกลายเป็นสามช่าแสดงว่ามันถึงแล้ว ซึ่งวันนี้มันก็ถึงจริง ๆ มันแตะคนไทยแล้ว”
ทางด้านโจอี้ บอย เจ้าพ่อแรพเปอร์ไทย กลับมีความเห็นว่า "บ้านเรายังขาดการหันมาหาจังหวะที่เป็นตัวตนของเราที่แท้จริง ประเทศไทยจะรู้จักได้ในฐานะเพลงของโลก ประเทศไทยต้องมีจังหวะที่เป็นของตัวเอง ซึ่งก็มีอยู่แล้ว อาทิ สามช่า รำวง หมอลำ เป็นจังหวะที่คนต่างชาติให้ความชื่นชอบ แต่เพลงไทยกลับมองว่าเป็นเพลงลูกทุ่ง"
ขณะที่ Namewee นักร้องแรพเปอร์ชาวมาเลเซีย ทำเพลงโดยนำภาษาต่าง ๆ มาแต่งร่วมกับภาษาจีนเพื่อความสนุกสนานแปลกใหม่ สำหรับเพลงที่เขาทำงานร่วมกับศิลปินไทยนั้นเขาได้นำจังหวะชะชะช่ามาทำเพลงชื่อ “THAI CHA CHA-ไทยชะช่า” โดยมีประโยคเด็ดว่า “You’re not Thai people, you don't know thai cha cha”
จากชะชะช่า กลายเป็นสามช่า ตามภาษาปากของคนไทย ค่อย ๆ กลายเป็น HipHop สามช่า จนถึง EDM สามช่า ไม่ว่าจะอย่างไรจากวันนั้นถึงวันนี้ ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงทางดนตรีมาโดยตลอด และเมื่อรวมกับท่าเต้นของสายย่อ เช่น ท่าดึงดาว ท่าปะแป้ง ฯลฯ ได้เกิดกลายเป็นสไตล์ใหม่ที่ต่างชาติต่างภาษามองว่ามีเอกลักษณ์ มีกลิ่นอายที่ไม่เหมือนใคร เป็นจังหวะชีวิตที่อยู่คู่กับคนไทยไปอีกนานแสนนาน
สรวิชญ์ ฤทธิจรูญโรจน์
กรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. (2559). คู่มือฝึกอบรมผู้ฝึกสอนกีฬาลีลาศ ตามหลักสูตรมาตรฐานวิชาชีพผู้ฝึกสอนกีฬาลีลาศ. กรุงเทพฯ : ศูนย์สื่อและสิ่งพิมพ์แก้วเจ้าจอม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.
กมลธรรม เกื้อบุตร. (2557). ดนตรีเต้นรำในสังคมและวัฒนธรรมไทย. วิทยานิพนธ์ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ดนตรี). มหาวิทยาลัยมหิดล, สาขาวิชาดนตรี, วิทยาลัยดุริยางคศิลป์. สืบค้นจาก อ่านออนไลน์
จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์. บทสนทนาหลังฝ่าช่วงมืดมิดในชีวิตจนค้นพบแสงสว่างของ แม็กซ์ เจนมานะ. The Cloud. สืบค้นจาก อ่านออนไลน์
จังหวะเพลงแห่งชาติ สามช่า-หมอลำ 'โจอี้ บอย' เตือน!!! ไทยมีดีอยู่แล้ว. (26 มิ.ย. 2555). ไทยรัฐออนไลน์. สืบค้นจาก อ่านออนไลน์
จังหวะช่า ช่า ช่า (CHA CHA CHA). สืบค้นจาก อ่านออนไลน์
ภูมิ พ่วงกิ่ม และ คมสันต์ วงค์วรรณ. (2559). ดนตรีกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองไทย พ.ศ. 2547-2557. ใน วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชพฤกษ์ ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 ตุลาคม 2558 – มกราคม 2559. สืบค้นจาก อ่านออนไลน์
เพลงลาวดำเนินทราย | วงศรีกรุง Youtube
เริงลีลาศ | สุนทราภรณ์ Youtube
ไอ้ทุยแถลงการณ์ | คำรณ สัมบุญณานนท์ Youtube
ผู้ชายในฝัน | พุ่มพวง ดวงจันทร์ Youtube
กุ้มใจ | อัสนี-วสันต์ โชติกุล Youtube
คู่กัด | ธงไชย แมคอินไตย์ Youtube
คิดถึงจังหวะ | ก้านคอบอย Youtube
วันหนึ่งฉันเดินเข้าป่า | Hiphop 3ช่า KTSREMIX Youtube
THAI CHA CHA | Namewee ft.BieTheSka Youtube