หากจะพูดถึงต้นใหญ่อายุนับร้อยปีในกรุงเทพฯ เราจะเห็นว่ามีเหลือไม่มากนัก ต้นไม้ใหญ่เหล่านี้เปรียบเสมือนกับวัตถุล้ำค่าของเมืองไปแล้ว เพราะบางต้นอาจจะมีเรื่องราวบอกเล่าเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาหรือเป็นสัญลักษณ์ของสถานที่ได้เลยทีเดียว อย่างเช่น ต้นตะเคียนที่ปลูกตามแนวริมคลองคูเมืองใกล้ๆวัดราชบพิธฯ ซึ่งปลูกมาตั้งสมัยรัชกาลที่ 1 สำหรับนำไม้มาสร้างเรือ ต้นกร่างต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยศิลปากร และต้นจามจุรีประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น
ในพื้นที่ของมิวเซียมสยาม ก็มีไม้ใหญ่เก่าแก่อยู่ด้วยเช่นกัน อย่างที่รู้กันว่า พื้นที่ตรงนี้เคยเป็นวังท้ายวัดพระเชตุพนและกระทรวงพาณิชย์มาก่อน บางคนที่เคยมามาที่นี่อาจะบอกว่าที่มิวเซียมสยามเห็นมีต้นไม้ใหญ่น้อยอยู่จำนวนมาก แล้วต้นไหนที่เก่าแก่อายุนับร้อยปี
เราต้องมาเริ่มต้นกันที่บริเวณทางขึ้นจาก MRT สถานีสนามไชย ทางออกประตู 1 โดยหันหน้าเข้ามาที่ตึกมิวเซียมสยาม จะเห็นต้นไม้ใหญ่สองต้นอยู่ด้านหน้าของมุขทั้งสองข้างของตึก ต้นไม้ทั้งสองคือ ต้นประดู่ร้อยปี
เรารู้ได้อย่างไรว่า ต้นประดู่อายุเป็นร้อยปี
จากข้อมูลภาพถ่ายเก่าของสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ และภาพถ่ายทางอากาศทำให้เราเห็นว่ามีต้นประดู่อยู่หน้ามุขข้างฝั่งด้านถนนสนามไชยยู่แล้ว จากขนาดและความสูงของต้นประดู่ จึงเชื่อได้ว่า ประดู่ต้นนี้น่าจะปลูกขึ้นตั้งแต่ยุคที่เป็นวังท้ายวัดพระเชตุพนก่อนการสร้างตึกกระทรวงพาณิชย์ ส่วนต้นประดู่หน้ามุขด้านขวานั้นน่าจะปลูกภายหลังจากตึกกระทรวงพาณิชย์สร้างเสร็จแล้วในปีพ.ศ. 2465 มาระยะหนึ่ง
ทำไมคนยุคนั้นถึงปลูกต้นประดู่
ตามความเชื่อมาแต่โบร่ำโบราณ ประดู่ เป็นไม้มงคล บ้านใดปลูกต้นประดู่ไว้ประจำบ้านจะทำให้เกิดพลังแห่งความยิ่งใหญ่เพราะ ประดู่ คือ ความพร้อม ความร่วมมือ ร่วมใจสามัคคี มีพลังเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การเบ่งบานและส่งกลิ่นหอมของดอกประดู่ จะบานพร้อมกันรวมพลังส่งกลิ่นหอม และจะโรยร่วงไปพร้อมกัน จากคุณลักษณะนี้เอง ประดู่จึงเป็นหนึ่งในไม้มงคลที่ถูกเลือกปลูกในพื้นที่แห่งนี้
ภาพที่ 1 ภาพถ่ายด้านหน้าตึกกระทรวงพาณิชย์ราวปีพ.ศ. 2468 มองเห็นต้นประดู่ด้านซ้ายของภาพ
ต้นประดู่มีขนาดสูงใหญ่แล้ว จึงเชื่อว่าประดู่ต้นนี้คงปลูกกันมาแล้วก่อนสร้างตึกกระทรวงพาณิชย์แต่มุมด้านขวาของภาพยังไม่มีต้นประดู่
แหล่งที่มาภาพ: จากหนังสือที่ระลึกสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ สวนลุมพินี ปี พ.ศ. 2468
ภาพที่ 2 ภาพตึกกระทรวงพาณิชย์ ปี พ.ศ.2520 ปรากฏต้นประดูด้านขวาของภาพและ
มีขนาดสูงใหญ่แล้ว เมื่อย้อนกัลป์ไปดูภาพถ่ายตึกในช่วงปี 2500 ก็มีต้นประดู่อยู่แล้ว
แสดงว่ามีการปลูกประดู่ต้นด้านขวา ระหว่างปีพ.ศ. 2468-2500
แหล่งที่มาภาพ: สำนักหอจดหมายเหตุ กรมศิลปากร
ภาพที่ 3 ภาพตึกมิวเซียมสยาม พ.ศ.2565 ร้อยกว่าปีผ่านไป
ต้นประดู่คู่ด้านหน้าตึกมิวเซียมสยามได้เติบใหญ่เคียงคู่กับตึกที่มีอายุเพิ่มมากขึ้น
แหล่งที่มาภาพ (ภาพปก) ภาพถ่ายทางอากาศบริเวณวัดพระเชตุพนฯ วันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ.2472
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร