มิวเซียมสยามกับประวัติศาสตร์พื้นที่
พื้นไม้ ไม่กลัวความชื้น
มิวเซียมสยามกับประวัติศาสตร์พื้นที่
07 ส.ค. 67 185

ผู้เขียน : วรกานต์ วงษ์สุวรรณ

               โดยปกติแล้วความชื้นกับไม้มักจะเป็นอริกัน อาคารไม้หรือปูน ที่ปลูกสร้างอยู่ในพื้นที่ที่มีความชื้นสูงมักจะประสบกับปัญหาความชื้นที่สร้างความเสียหายให้กับตัวอาคาร

               ตึกมิวเซียมสยามสร้างอยู่ในพื้นที่ที่มีความชื้นสูงจากน้ำใต้ดิน แต่พื้นอาคารซึ่งโดยส่วนใหญ่ปูด้วยไม้กลับไม่เจอกับปัญหานี้ เพราะอะไร? นายช่างที่ออกแบบจัดการกับปัญหาความชื้นอย่างไร มาไขคำตอบกัน

               พื้นของตึกมิวเซียมสยามแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ พื้นในส่วนของห้องทำงานปูด้วยไม้และพื้นระเบียงทางเดินด้านนอกเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กปูทับด้วยกระเบื้องหินขัด โครงสร้างพื้นชั้นล่างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก จากนั้นจึงวางตงไม้และปูพื้นไม้ทับลงไปบนโครงสร้างคอนกรีตนั้น

               ส่วนโครงสร้างพื้นชั้น 2 เป็นคานคอนกรีตเสริมเหล็กที่แควนจากคานใหญ่ด้านบน  คานใหญ่นี้อยู่ในแนวผนัง เหนือระดับขอบบนของประตูชั้น 2 ทั้งหมด คานคอนกรีตเสริมเหล็กนี้ทำหน้าที่ 2 ประการคือ รองรับตงไม้และพื้นไม้ของชั้น 2 และหิ้วแผ่นฝ้าเพดานคอนกรีตของห้องชั้นล่างไว้ทั้งหมด คานคอนกรีตเสริมเหล็กนี้จึงพาดเป็นตาราง ตามระยะประสานพิกัด (Modular Dimension) ที่กำหนดไว้ โครงสร้างอันพิสดารนี้ใช้เฉพาะส่วนที่ทำงานทั้งหมด ส่วนพื้นทางเดินชั้น2 ซึ่งไม่ได้รับน้ำหนักมาก ทำเป็นพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กชนิดถ่ายน้ำหนักไปทางเดียว (Zone-way slab) ที่บางเพียง5เซนติเมตร โดยมีน้ำหนักของผนังห้องและผนังทางเดินที่ก่อด้วยอิฐช่วยกดทับให้เกิดความมั่นคง พื้นทางเดินส่วนนี้ปูทับด้วยกระเบื้องหินขัด (terrazzo tiles) สีเทาอ่อนและสีเขียว

               โครงสร้างพื้นชั้น3 เป็นคานคอนกรีตเสริมเหล็กลักษณะเดียวกับคานรับพื้นชั้น2 ถ่ายแรงลงบนคานใหญ่ ชุดเดียวกัน วางตงไม้และปูทับพื้นไม้ทับหน้าในลักษณะเดียวกัน โดยที่ตงไม้พื้นวางที่ระยะ 90 ซม.ทั้งอาคาร

               กลับมาที่ทำไมความชื้นจากดินจึงไม่ทำลายพื้นไม้และตัวอาคาร ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่านายช่างได้ออกแบบโครงสร้างพื้นชั้นล่างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กที่ออกแบบไว้เป็นพิเศษ คือ ทำคานคอนกรีตมีบ่าขวางด้านแคบของห้อง ที่ระยะทุกๆ 2.50 เมตร แล้ววางแผ่นคอนกรีตโค้ง หนา 5 ซม.ให้ปลายพาดที่บ่าคาน ฉาบปูนทับด้านบน โดยแผ่นคอนกรีตโค้งนี้จะทำหน้าที่กักความชื้นจากใต้ดินไว้ไม่ให้ถึงพื้นไม้และเข้าสู่ตัวอาคาร

               ด้วยความรู้ เทคโนโลยีการก่อสร้างและวัสดุสมัยใหม่นี่เอง จึงเป็นคำตอบว่าทำไมพื้นไม้ถึงไม่กลัวความชื้น และตึกมิวเซียมสยามมั่นคงแข็งแรงอยู่มาเกินร้อยปี

 

 

แหล่งข้อมูลค้นคว้า

พีรศรี โพวาทอง. สถาปัตยกรรมมิวเซียมสยาม, สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ. 2565.

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ