มิวเซียมสยามกับประวัติศาสตร์พื้นที่
เรื่องเล่าจากวัตถุ – Wildrose กับวิวชนบทอังกฤษ
มิวเซียมสยามกับประวัติศาสตร์พื้นที่
27 ส.ค. 67 221

ผู้เขียน : ปัฐยารัช ธรรมวงษา

               จากการขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่มิวเซียมสยาม ได้พบเศษภาขนะยุโรปพิมพ์ลายแบบ Transfer Printing ชื่อว่าลายดอกกุหลาบป่าหรือ Wildrose หมายถึงลายตกแต่งบริเวณขอบที่เป็นรูปดอกไม้ดังกล่าว ตรงกลางของภาขนะเป็นลายวิวทิวทัศน์ของโบสถ์ที่มีหอระฆัง อาคารท่ามกลางป่าไม้ และเนินเขา ด้านหน้าเป็นสะพาน กระท่อม และเรือ 2 ลำในลำคลอง บนเรือมีผู้ชายกำลังพาย อีกลำมีผู้ชายทำท่าผูกเรือกับเสา

               วิวทิวทัศน์ที่สวยงามของลายดอกกุหลาบป่า อาจได้รับแรงบันดาลใจจากภาพพิมพ์ ชื่อ Nuneham Courtenay, Bridge and Cottage โดยศิลปินนาย S. Owen และช่างเกาะสลักนาย W. Cooke ในปี ค.ศ. 1811
สถานที่ในภาพเป็นหมู่บ้าน Nuneham ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเทมส์ในออกฟอร์ด ประเทศอังกฤษ หมู่บ้านแห่งนี้มีทิวทัศน์ที่งดงามจากฝีมือการจัดสวนของนาย Lancelot Brown นักจัดสวนผู้มีชื่อเสียงโด่งดังของอังกฤษ ที่รับออกแบบสวนของหมู่บ้านระหว่างปี ค.ศ. 1779-1782 เขาได้จัดวางองค์ประกอบสถานที่ต่าง ๆ อย่างงดงามลงตัวและไม่บดบังกัน จากภาพบนภาชนะสันนิษฐานว่า อาคารที่มีหอคอยยอดโดมบนเนินเขาที่มองเห็นในระยะไกล น่าจะเป็นโบสถ์สถาปัตยกรรม Palladian ซึ่งมีชื่อว่า Old All Saints Church ส่วนอาคารทรงตึกขนาดเล็กทางด้านซ้ายสันนิษฐานว่าเป็นบ้าน  Nuneham ของท่าน Lord Harcourt เจ้าของที่ดินผู้ปรับปรุงบริเวณพื้นที่ของหมู่บ้านอย่างใหญ่โต โดยออกแบบให้เป็นบ้านสวนชนบทที่งดงาม บ้านประจำตระกูลหลังนี้ออกแบบโดยนาย James Stuart

               ในช่วง ค.ศ. 1830-1859 ภาชนะลายดอกกุหลาบป่าเป็นที่นิยมแพร่หลาย โดยมีการผลิตจากโรงงานต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า 16 แห่งทั่วประเทศอังกฤษและเนเธอร์แลนด์ ดอกกุหลาบป่ามีความหมายถึงความชื่นชมยินดี หรือการได้รับความสุขกลับคืนมา กุหลาบป่าเป็นดอกไม้พันธุ์พื้นเมืองของเกาะอังกฤษที่ขึ้นอยู่ทั่วไป จึงสอดรับกับบรรยากาศของทิวทัศน์ชนบทที่ถูกตกแต่งอยู่กลางภาชนะ ภาชนะลวดลายเช่นนี้ถูกผลิตจำนวนมากและส่งขายมายังภูมิภาคเอเชีย จึงมีการพบภาชนะรูปแบบนี้ในหลายพื้นที่ เช่น ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

 

ผู้ที่สนใจสามารถค้นคว้าข้อมูลวัตถุเพิ่มเติมในรูปแบบสามมิติได้ที่ collection360.museumsiam.org    

#เรื่องเล่าจากวัตถุ

#Collection360 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ