เศษภาขนะยุโรปที่พบจากการขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่มิวเซียมสยามอีกชิ้นที่น่าสนใจ คือ ชิ้นส่วนขอบปากจานกลมเคลือบสีขาว ตกแต่งด้วยเทคนิคพิมพ์ลายแบบ Transfer Printing ด้วยสีน้ำเงิน ลวดลายที่เห็นเป็นลายใบไม้แบบประดิษฐ์
ลายบนชิ้นส่วนขอบจานชิ้นนี้ เป็นเอกลักษณ์ของลวดลาย “อากรา” ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปกรรมแบบอินโด-เปอร์เซียของจักรวรรดิโมกุล โดยเฉพาะที่เมืองอากรา รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดียซึ่งเป็นเมืองที่มีสถาปัตยกรรมสำคัญ ได้แก่ เมืองฟเตหปุระสีกรี อนุสรณ์สถานทัชมาฮาล และป้อมอากรา หากจานใบนี้อยู่ในสภาพสมบูรณ์จะมีภาพตรงกลางเป็นกลุ่มอาคารสถาปัตยกรรมแบบโมกุลทางด้านซ้ายมือ ประกอบด้วย อาคารชั้นเดียวมีหลังคาทรงโดม หออาซานหรือหอมินาเรต 2 หอ และมัสยิดซึ่งเป็นอาคารยอดโดม 1 หลัง ทั้งหมดอยู่ท่ามกลางสวนที่มีบรรยากาศร่มรื่น ด้านขวามีหม้อน้ำซึ่งเป็นสัญลักษณ์ความอุดมสมบูรณ์ ที่ขอบของจานประดับด้วยลายใบไม้แบบประดิษฐ์ ส่วนด้านหลังจะมีการพิมพ์ชื่อลายและโลโก้ของโรงงานไว้ด้วย
จานลวดลายนี้มีผลิตทั้งในสกอตแลนด์และเนเธอแลนด์ โดยแต่ละโรงงานมีอายุการผลิต เช่น โรงงาน
J. & M. P. Bell เมืองกลาสโกว สกอตแลนด์ ผลิตลวดลายนี้ ระหว่างปี ค.ศ. 1842–1928 โรงงาน Petrus Regout เมืองมาสทริชท์ เนเธอแลนด์ ผลิตลวดลายนี้ ระหว่างปี ค.ศ. 1879–1932 นอกจากการผลิตเพื่อขายในยุโรปแล้ว ยังมีการส่งออกมายังพื้นที่แถบเอเชียอีกด้วย
ความนิยมในสถาปัตยกรรมโมกุลนั้น เริ่มเป็นที่สนใจของชาวตะวันตกตั้งแต่จักรวรรดินิยมอังกฤษรุกคืบเข้ายึดดินแดนต่าง ๆ มีเป้าหมายหลักคือราชวงศ์โมกุลที่กระจายอำนาจตามรัฐต่าง ๆ ในอินเดีย อิทธิพลของศิลปะโมกุลที่น่าหลงใหลทำให้ในปี ค.ศ.1815 จอห์น แนช สถาปนิกชาวอังกฤษ ได้ออกแบบภูมิทัศน์ของพระตำหนัก
ไบรตันขึ้นใหม่ให้มีลักษณะศิลปะโมกุลผสมกับศิลปะอิสลาม เพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนริมทะเลสำหรับราชวงศ์อังกฤษ โดยแสดงทิวทัศน์แบบโลกตะวันออก (Oriental Scenery) อย่างชัดเจนทั้งการจัดสวน น้ำพุ บ่อน้ำ และ
องค์ประกอบที่ใช้ตกแต่งอื่น ๆ ต่อมาพระตำหนักได้ถูกขายให้เทศบาลไบรตันในปี ค.ศ. 1850
ผู้ที่สนใจสามารถค้นคว้าข้อมูลวัตถุเพิ่มเติมในรูปแบบสามมิติได้ที่ collection360.museumsiam.org