สิงโตถูกมองว่าเป็นราชาแห่งสัตว์ป่า ซึ่งสะท้อนถึงคุณสมบัติที่ดีเยี่ยมของบุคคลที่เป็นผู้นำหรือวีรบุรุษ ในภาษาอาหรับ คำว่า "อัสซัด" (أسد) หมายถึง "สิงโต" และชื่อ "อัสซัด" ยังถูกใช้เป็นชื่อบุคคลทั่วไปในวัฒนธรรมอาหรับ เพื่อสื่อถึงความแข็งแกร่งและความกล้าหาญ ในบทกวีและวรรณคดีอาหรับ สิงโตมักถูกใช้เพื่อเปรียบเทียบกับบุคคลที่เป็นนักรบหรือผู้นำที่มีความกล้าหาญและทรงพลัง
เศษขอบภาขนะที่พบจากการขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่มิวเซียมสยามชิ้นหนึ่งมีลวดลายที่น่าสนใจและแตกต่างจากหลายชิ้นที่พบในกลุ่มเดียวกัน จากการสืบค้นพบว่า ลวดลายเช่นนี้ไม่ปรากฏชื่อลายชัดเจน แต่ลายหลักที่กลางภาชนะจะเป็นรูปสิงโตยืนอยู่ท่ามกลางภูมิทัศน์ของทะเลทราย ภาพของสิงโตในลวดลายนี้ให้ความรู้สึกของความสง่างามและทรงพลัง สีที่ใช้ในการพิมพ์ลายเป็นสีน้ำตาลเข้ม ซึ่งช่วยให้ลายมีความคลาสสิก ภาชนะที่มีลวดลายเช่นนี้พบมากในประเทศแถบเอเชียกลาง โดยมีการกล่าวว่าเป็นลวดลายที่ผลิตสำหรับท้องที่นี้โดยเฉพาะ
กลุ่มภาชนะลายสิงโตนี้ผลิตจากโรงงาน Sarreguemines เป็นผู้ผลิตเครื่องปั้นดินเผาแบบเคลือบดีบุก (faience) และเซรามิกที่มีชื่อเสียงจากประเทศฝรั่งเศส โรงงาน Sarreguemines ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1790 ในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส ที่เมือง Sarreguemines ในแคว้น Moselle ประเทศฝรั่งเศส ใกล้กับชายแดนเยอรมนี สินค้าของโรงงานนี้จะมีความหลากหลายในด้านรูปแบบ โดยเฉพาะแนว Art Nouveau, Art Deco และรูปแบบดั้งเดิมประจำภูมิภาคของฝรั่งเศส
ในช่วงยุคอาณานิคม สินค้ายุโรปต่างๆ รวมถึงเครื่องปั้นดินเผาได้ถูกส่งออกไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บนเส้นทางการค้าและเครือข่ายการค้าที่มีอยู่ ทำให้ผลิตภัณฑ์ของ Sarreguemines ถูกกระจายไปยังหลายพื้นที่ของเอเชีย ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้รับความนิยมในหมู่คนที่มีฐานะ เป็นภาชนะที่ถูกใช้สอยทั่วไปและนำมาสู่การสะสม