หากนึกถึงประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่สวยงามอบอวลไปด้วยบรรยากาศของความเป็น ‘เพื่อนรัก’ อดที่จะนึกถึงเรื่องราวระหว่างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และพระเจ้าซาร์ นิโคลัสที่ 2 ของรัสเซียไม่ได้ เนื่องจากมีพระบรมฉายาลักษณ์ที่ได้ฉายร่วมกัน และพระบรมฉายาลักษณ์นี้มีนัยสำคัญยิ่ง ที่เราเชื่อว่าการที่สยามเป็นเพื่อนกับรัสเซียช่วยให้นักล่าอาณานิคมอย่างอังกฤษและฝรั่งเศสต้องเกรงใจเรา เพราะเพื่อนเราใหญ่
ก่อนได้มาเจอกันของเพื่อนรัก สยามต้องเผชิญหน้ากับอังกฤษ และฝรั่งเศส
ก่อนการเปิดฉากมาเจอกันของเพื่อนรักทั้งสอง สถานการณ์ที่เพื่อนชาวสยามเผชิญอยู่นั้นคือการถูกรังแกจากสองนักเลงใหญ่อย่าง ‘อังกฤษ’ และ ‘ฝรั่งเศส’ ด้วยสถานการณ์ทำให้รัชกาลที่ 5 ต้องทำอะไรสักอย่าง จึงมีการดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างเข้มข้น เพราะหากสยามต้องตกอยู่ภายใต้เจ้าอาณานิคมชาติใดชาติหนึ่งก็จะทำให้สูญเสียเอกราช ตกเป็นประเทศอาณานิคมได้ นอกจากต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เรื่องการปกครองแล้ว ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งรัชกาลที่ 5 ก็อาจจะทรงกังวลถึงการกำลังคืบคลานเข้ามาของความไม่มั่นคงต่อชีวิตและพระราชอำนาจของพระองค์เอง ด้วยเหตุนี้การเสด็จมาเยือนเอเชียของมกุฎราชกุมารแห่งรัสเซีย (พระอิสริยยศของพระเจ้าซาร์ นิโคลัสที่ 2 ณ ขณะนั้น) จึงเป็นกุญแจสำคัญ
ก่อนการมาเยือนก็ใช่ว่าอยู่ ๆ มา แต่ทุกอย่างผ่านกระบวนการคิดแล้วคิดอีก ซึ่งสยามก็ไม่ได้คิดฝ่ายเดียว รัสเซียก็คิดแล้วคิดอีกเช่นกัน แน่นอนจุดที่เพื่อนรักทั้งสองคำนึงถึงนั่นคือเรื่องของผลประโยชน์
การมาของรัสเซีย อันดับแรกต้องมองไปที่ระดับภูมิภาคก่อนว่าเหตุใดภูมิภาคเอเชียจึงดึงดูดยักษ์ใหญ่อย่างรัสเซีย ทำไมต้องมาเยือน เพราะช่วงเวลาก่อนหน้าภูมิภาคนี้ไม่ได้เป็นที่สนใจ หรือแทบจะไม่รู้จักเลยด้วยซ้ำสำหรับรัสเซีย เนื่องจากมองว่าเป็นโซนอันตราย ไม่ต่างจากการมองโซนแอฟริกา การที่พระเจ้าซาร์ อเล็กซานเดอร์ที่ 3 กษัตริย์รัสเซียในขณะนั้น ทรงอนุญาตให้มกุฎราชกุมาร เดินทางไปยังประเทศห่างไกลและอันตรายอย่างเอเชีย หมายความว่าการมาเยือนเอเชียครั้งนี้มีความสำคัญเพียงพอที่องค์รัชทายาทของรัสเซียต้องเสด็จ หากมองด้วยสายตาปัจจุบันก็จะนึกไม่ออกเพราะการเสด็จในปัจจุบันเป็นเรื่องที่ง่ายเนื่องจากคมนาคมสะดวก ซึ่งเหตุผลหลักในการมาครั้งนี้ที่เปิดเผยอย่างเป็นทางการคือ 1. เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์จุดต้นทางเพื่อเริ่มก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายทรานส์ไซบีเรีย ณ เมืองวลาดิเมียวอสต็อค ในรัสเซียตะวันออก 2. เพื่อศึกษาดูงานระบอบการปกครองของประเทศต่าง ๆ อันเป็นการสร้างบารมีและอิทธิพลทางอ้อมของรัสเซีย และเหตุผลอีกประการที่ไม่ได้เปิดเผยก็คือการที่พระบรมชนกจับให้แยกกันอยู่ระหว่างพระเจ้าซาร์ นิโคลัสที่ 2 กับแฟนสาวนักเต้นบัลเล่ต์ที่ชื่อ เคสชินสกา (Mathilde Skchessinska)
นอกจากนี้การเสด็จประพาสเอเชียครั้งนี้ของพระเจ้าซาร์ นิโคลัสที่ 2 เกิดขึ้นระหว่างสถานการณ์ที่มีการถ่วงดุลอำนาจทางการเมืองในทวีปยุโรปที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม อันเนื่องมาจากบิสมาร์ก อัครมหาเสนาบดีแห่งเยอรมนี ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้จัดระเบียบยุโรป ถูกปลดออกจากตำแหน่งในปี 1890 (พ.ศ. 2433) การหมดอำนาจของบิสมาร์กมีผลกระทบต่อนโยบายบริหารยุโรปของเยอรมนี ในปีเดียวกันนี้รัสเซียก็เพิ่งจะสิ้นสุดข้อผูกมัดกับออสเตรีย-ฮังการี ในสันนิบาตสามจักรพรรดิ (รัสเซีย, เยอรมนี, ออสเตรีย-ฮังการี) ที่เคยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่รัสเซียกลับหันไปคบหากับฝรั่งเศสแทน ซึ่งเหตุผลนี้ก็มีส่วนให้สยามสนใจการมาของรัสเซียเช่นกัน
ส่วนอีกเหตุผลที่กล่าวไปก่อนหน้าเกี่ยวกับการสร้างทางรถไปสายทรานส์ไซบีเรีย รัสเซียเชื่อว่าเป็นหนทางของการขยายอำนาจไปยังภาคตะวันออกจนถึงชายหาดมหาสมุทรแปซิฟิกอีกซีกโลกหนึ่งจะเป็นผลประโยชน์ต่อทางการทหารและเศรษฐกิจ อีกทั้งเป็นการขัดขวางและยับยั้งคู่แข่งอย่างอังกฤษ ไม่ให้ตักตวงผลประโยชน์ในเอเชียเพียงฝ่ายเดียว
ฝ่ายสยาม ก็มีท่าทีต่อการมาของรัสเซียเป็นไปอย่างกระตือรือร้น และมีความหมายอย่างยิ่ง สยามให้การต้อนรับดีขนาดไหนสามารถสะท้อนได้จากวลีหนึ่งที่ว่า ‘ยิ่งใหญ่ราวกับรับซาเรวิช’ เป็นวลีที่ใช้อธิบายความอลังการของงานต่าง ๆ ในสมัยหลัง ซึ่งมีที่มาจากการต้อนรับพระเจ้าซาร์ นิโคลัสที่ 2 ในการเสด็จเยือนสยาม พระเจ้าซาร์ นิโคลัสที่ 2 ประทับอยู่ที่สยามเป็นเวลา 5 วัน คือวันที่ 20 - 24 มีนาคม พ.ศ. 2433 สยามให้การต้อนรับเป็นอย่างดี พระเจ้าซาร์ นิโคลัสที่ 2 ทรงพอพระทัยเป็นอย่างมาก รวมไปถึงคณะผู้ติดตามก็มีความพึงพอใจ ในระหว่างนี้พระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 พระบรมชนกของพระเจ้าซาร์ นิโคลัสที่ 2 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เซนต์แอนดรูชั้นที่หนึ่ง ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของรัสเซียให้กับรัชกาลที่ 5 ด้วยความพึงพอใจในการต้อนรับครั้งนี้ ส่วนทำไมต้องต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่อลังการเรื่องนี้มีเหตุผล มองว่าเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินนโยบายการต่างประเทศ เนื่องจากสยามตกอยู่ในฐานะประเทศกันชนของอังกฤษและฝรั่งเศส มีความไม่มั่นคงทางการเมือง การมาเยือนครั้งนี้จึงสำคัญ
ถึงตรงนี้อาจมีข้อสงสัยว่าทำไมสยามถึงมีโอกาสได้เป็นเพื่อนรักกับรัสเซีย แล้วประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ตรงไหนในเรื่องนี้ ประเทศอื่น ๆ เช่น พม่า กัมพูชา มีโอกาสที่จะดำเนินนโยบายในการเข้าหารัสเซียเพื่อถ่วงดุลอำนาจกับเจ้าอาณานิคมที่มีอิทธิพลอยู่ในบริเวณนี้ไหม ต้องบอกว่าไม่ใช่เขาไม่คิดหรือคิดกันไม่ได้ แต่ด้วยโอกาสที่ทำได้ยากเหลือเกินภายใต้การถูกกดดันจากมหาอำนาจอย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส แต่สยามยังเป็นประเทศที่ไม่มีเจ้าของยังอยู่ในขั้นที่ต้องดิ้นรนเพื่อรอดพ้นภัยคุกคามจากเจ้าอาณานิคมตะวันตก ก็เลยต้องเต็มที่กับการต้อนรับการมาเยือนของรัสเซีย
ร. 5 เสด็จประพาสยุโรปไปพบพระเจ้าซาร์ นิโคลัสที่ 2
ภายหลังวิกฤติ ร.ศ. 112 กรณีพิพาทระหว่างสยามกับฝรั่งเศส การเสด็จประพาสยุโรป ครั้งที่ 1 ของรัชกาลที่ 5 ครั้งนี้ (พ.ศ. 2440) มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อเผยแพร่ความเป็นไทยให้นานาประเทศได้รู้จัก เจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ ในภาคพื้นยุโรป ในฐานะพระประมุขของประเทศที่มีสถานะเท่าเทียมกันอันเป็นหนทางไปสู่การเจรจาแก้ไขสนธิสัญญา และข้อตกลงต่าง ๆ อย่างมีความเสมอภาค ไม่ถูกดูหมิ่นว่าชาวสยามเป็นชนชาติที่ล้าหลังดังข้ออ้างในการเข้ายึดครองอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ
การไปหาเพื่อนรัก และเพื่อนรักช่วยได้ไม่เต็มที่ แต่เรียกมาถ่ายรูปด้วยกัน
อย่างไรก็ตามลึก ๆ แล้วรัสเซียอาจจะช่วยสยามไม่ได้มากอย่างที่สยามคาดหวังไว้ เนื่องจากรัสเซียเป็นมิตรลับกับฝรั่งเศส ส่งผลถึงความสัมพันธ์กับสยามหากจะช่วยอะไรสยามก็ช่วยมากไม่ได้ต้องคำนึงถึงฝรั่งเศสด้วย
แต่ท้ายที่สุดแล้วพระเจ้าซาร์ นิโคลัสที่ 2 ตัดสินพระทัยให้รัชกาลที่ 5 ไปฉายพระรูปร่วมกัน และพระเจ้าซาร์ นิโคลัสที่ 2 ได้มีการส่งพระบรมฉายาลักษณ์ของทั้งสองพระองค์ ณ พระราชวังปีเตอร์ฮอล์ฟ ไปตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ของประเทศต่าง ๆ ในยุโรป เป็นสถานการณ์ที่พระเจ้าซาร์ นิโคลัสที่ 2 พยายามจะช่วยเพื่อนอย่างดีที่สุดเท่าที่ทำได้ในสถานการณ์ตอนนั้นที่มีความอึดอัดพอตัว เนื่องจากฝรั่งเศสก็เป็นมิตรลับในเรื่องของผลประโยชน์ ถึงแม้รถไฟสายทรานส์ไซบีเรียจะสามารถส่งผ่านอิทธิพลของรัสเซียผ่านไปถึงใจกลางทวีปเอเชีย แต่ทางรถไฟสายนี้ก็สร้างด้วยเงินที่รัสเซียกู้ยืมมาจากฝรั่งเศสซึ่งเป็นพันธมิตรของตน ซึ่งทำให้รัสเซียไม่มีอำนาจเด็ดขาดในผลประโยชน์ที่ควรได้รับเต็มที่เพราะต้องคำนึงถึงฝรั่งเศสที่เป็นนายทุนใหญ่ด้วยความยำเกรงตลอดเวลา แต่ทำไมรัสเซียถึงยังไม่ทิ้งสยาม จะคิดว่าเป็นการช่วยในมุมของเพื่อนรักก็อบอุ่นดี หรือจะคิดถึงเรื่องการดำเนินนโยบายเพื่อผลประโยชน์ก็อาจจะเป็นได้ในแง่ที่ว่า แม้รัสเซียจะไม่มีอาณานิคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แต่ก็มีการถ่วงดุลอำนาจเบา ๆ ด้วยการประกาศว่าเขาก็มีเครือข่ายอยู่ในภูมิภาคนี้เหมือนกันผ่านการตีซี้กับเพื่อนสยาม
เพื่อนรักจากไป ปิดฉากราชวงศ์โรมานอฟ ความสัมพันธ์เปลี่ยนไป
ในสมัยรัชกาลที่ 6 ฟากทางรัสเซียมีการปฏิวัติในปี 1917 (พ.ศ. 2460) ซึ่งทำลายระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของพระเจ้าซาร์ นิโคลัสที่ 2 ถูกแทนที่ด้วยรัฐบาลบอลเชวิค และได้มีการสังหารครอบครัวของราชวงศ์โรมานอฟ เหตุการณ์นี้ส่งผลกับความสัมพันธ์สยามและรัสเซีย เนื่องจากประเทศที่เคยเป็นเพื่อนรัก (ความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์) กำลังเปลี่ยนแปลง ซ้ำร้ายเพื่อนรักถูกกระทำอย่างรุนแรงที่สุด ก็ทำให้สยามเริ่มห่างกับรัสเซียและภาพการมองรัสเซีย จากมองด้วยสายตาอบอุ่นสวยงามในทุ่งลาเวนเดอร์ ถูกแทนที่ด้วยภาพของคอมมิวนิสต์ ภาพความโหดร้าย เข้ามาแทนที่ในความรู้สึกเมื่อต้องนึกถึงประเทศนี้
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นตัวอย่างการดำเนิน ‘วิเทโศบาย’ หรือ การดำเนินนโยบายต่างประเทศ ได้เป็นอย่างดี การดำเนินนโยบายต่าง ๆ ภายใต้ทุ่งลาเวนเดอร์ที่สวยงามจากสายตา ‘คนนอก’ อย่างเราเราที่เป็นคนปัจจุบันมองเข้าไป มีแต่ความ Happy Ending โดยละเลยความน่าสนใจหลังฉาก Happy Ending นั้นว่ามีการขับเคี่ยว ชิงไหวชิงพริบกันตลอดเวลา ฉากหน้าที่ดูเป็นเรื่องเรียบง่ายเหมือนไม่มีอะไร อย่างเรื่องแค่ ‘ฉายพระรูป’ ร่วมกัน ก็เอามาศึกษาเหตุและผลได้ยืดยาว หลาย ๆ อย่างมีนัย มีรหัส มีความหมาย ทั้งการดำเนินนโยบาย หรือแม้การพูด ภาษากายต่าง ๆ ของผู้นำ ก็มีให้คิดอ่านตีความกันไม่ต่างจากการติดตามสถานการณ์ข่าวต่างประเทศที่เข้มข้น อย่าง คิมจองอึล ประธานาธิบดีเกาหลีเหนือ จับมือกับ โดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ในหน้าจอทีวีปัจจุบัน
รัชนก พุทธสุขา
สัมภาษณ์ อ.ดร.จิราพร ตรีวิเศษศร อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนคริทรวิโรฒ
ไกรฤกษ์ นานา. (25521). เบื้องหลังการเยือนกรุงสยามของมกุฎราชกุมารรัสเซีย มิติการเมืองใหม่สมัยรัชกาลที่ 5. กรุงเทพฯ: มติชน.
หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณทลกรุงเทพฯ. (2560). แลเหลียวหลัง สมเด็จพระปิยมหาราชกับการเสด็จประพาสยุโรป. สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2562,จาก อ่านออนไลน์