การเกิดขึ้นของ “วันหยุดราชการ” นั้นสามารถที่จะย้อนได้ไปในสมัยรัชกาลที่ 5 สมัยนั้น เรียกว่า “วันหยุดการ” บ้างก็ว่า “วันพระหยุดทำการ” หมายถึงเป็นวันหยุดทำงานของข้าราชการในรอบสัปดาห์ ดังในข้อความในราชกิจจานุเบกษา พ.ศ.2430 ที่ว่า
“ในประเทศสยามนี้นิยมวันดับวันเพ็ญ แลวันกึ่งปักษ์ว่าเป็นวันพระ ในกรมต่าง ๆ ที่รับราชการ บางกรมก็ได้หยุดการใน 4 วันที่กล่าวมาแล้ว”
ทำให้ทราบว่าโดยปกติแล้วจะถือเอาวันพระเป็นวันหยุดราชการ แต่ไม่ใช่ว่าข้าราชการทุกคนจะได้หยุดตรงกัน ดังคำว่า “บางกรมก็ได้หยุด” อย่างไรก็ตามในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีการเปลี่ยนแปลง “วันหยุดการ” จากวันพระมาเป็น “วันอาทิตย์” แทน ซึ่งมีวันหยุดประจำสัปดาห์ 4 วันเหมือนเดิม
วันหยุดราชการประจำปีได้ถูกประกาศขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ในพระบรมราชโองการประกาศกำหนดวันหยุดราชการนักขัตฤกษ์ประจำปี (พระพุทธศักราช 2456) พระองค์ทรงมีพระราชดำริว่า
“...ข้าราชการที่ได้รับราชการอยู่ทุกวันนี้ สมควรจะได้มีเวลาพักผ่อนร่างกายบ้าง แลตามนักขัตฤกษ์ที่ได้หยุดการก็มิใช่วันที่จะหยุดพัก แลการที่เคยหยุดกันมาก็แตกต่างไปตามหมู่ตามกระทรวง หาเปนการสมควรไม่ จึงควรให้เปนระเบียบอันเดียวกัน คือการหยุดนั้นมี 3 อย่าง สำหรับได้ผ่อนพักร่างกายบ้างอย่างหนึ่ง หยุดเพื่อแสดงความเคารพต่อพระบรมราชวงษ์อย่างหนึ่ง เพื่อเคารพต่อพระสาสนาอีกอย่างหนึ่ง ...”
วันสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์และสถาบันศาสนาที่ถูกคัดเลือกให้มาเป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ ประกอบด้วย
จะเห็นได้ว่าวันประเพณีที่ถูกคัดสรรให้มาเป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ทั้ง 7 วันข้างต้นล้วนเป็นวันสำคัญในทางพุทธศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์
แม้ว่าจะออกประกาศวันหยุดแล้ว แต่ก็ยังไม่มีแบบแผนที่ใช้ร่วมกันเรื่องระยะเวลาที่จะหยุด โดยข้าราชการกระทรวงยุติธรรมจะได้หยุดพักผ่อนในช่วง “พระราชพิธีตะรุษะสงกรานต์ แลนักขัตฤกษ์” เป็นเวลาถึง 1 เดือนขณะที่ข้าราชการกระทรวงอื่น ๆ ได้หยุดพักผ่อน 19 วัน และจำนวนวันหยุดก็ลดจำนวนลงเรื่อย ๆ ในเวลาต่อมา จนกระทั่งหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี พ.ศ. 2477 รัฐบาลจึงได้กำหนดวันหยุดราชการและการประกอบพิธีทางราชการที่เกี่ยวกับวันหยุดให้เป็นระเบียบเรียบร้อยรัดกุมและแน่นอน โดยมีหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณเป็นประธานกรรมการ
จากประกาศดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นว่าการสร้าง “วันหยุดราชการ” นั้นได้ใช้ประโยชน์ของวันหยุดอยู่ 3 ประการ โดยประการแรกคือการพักผ่อนร่างกายซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการใช้ประโยชน์จากวันหยุด และเป็นพื้นฐานที่สำคัญต่อการทำงานในระบบสมัยใหม่ที่เวลาทำงาน และวันหยุดจะต้องเป็นเวลาที่มีความแน่นอนเพื่อประสิทธิภาพในการทำงานที่สูงขึ้น
ขณะเดียวกันจะเห็นได้ว่าประกาศดังกล่าวนี้ก็ได้แสดงให้เห็นว่าระบบวันหยุดที่เคยมีมานั้นได้แก่ “นักขัตฤกษ์ที่ได้หยุดการก็มิใช่วันที่จะหยุดพัก” สะท้อนให้เห็นถึงการมองเทศกาลที่ผ่านมานั้นมิใช่วันหยุดตามแนวคิดสมัยใหม่และไม่ใช่การพักผ่อนร่างกายอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตามวันหยุดราชการตามแนวคิดสมัยใหม่ของรัฐไทยก็มิได้มีแค่เรื่องของการพักผ่อนร่างกายเท่านั้น หากยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นการเคารพพระศาสนาและพระบรมราชวงศ์อีกด้วย สะท้อนให้เห็นว่า รัฐไม่ได้ปล่อยให้เวลา 24 ชั่วโมงเหล่านี้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์เท่านั้น และสะท้อนให้เห็นว่ารัฐไม่ได้ปล่อยให้ “สำนึกวันนี้ในอดีต” ของพลเมืองเป็นไปโดยไร้ทิศทาง เพราะการหยุดงานใน “วันหยุดราชการ” นี้จะต้องระลึกถึงอุดมการณ์สำคัญของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั่นก็คือพุทธศาสนาและพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นการสร้างสำนึกความทรงจำผ่านหน้าปฏิทินของรัฐ โดยวันหยุดราชการที่เคลื่อนไปในแต่ละปีจะเป็นการเน้นย้ำ ความทรงจำที่สำคัญ (และควรจะเป็น) ของพลเมืองในรอบปีหนึ่งนั้นว่ามีความสำคัญอย่างไรพร้อมทั้งระลึกถึงความทรงจำเหล่านั้นร่วมกัน
จากประกาศวันหยุดราชการครั้งแรกของรัฐไทยนี้ได้ทำให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในพิธีกรรมอย่างชัดเจน โดยเห็นได้จากบรรดาวันหยุดราชการต่าง ๆ ที่ได้รับการประกาศนั้นจะมี “ราก” ของการเป็นพิธีกรรมมาก่อนไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรมของพุทธศาสนาหรือสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งพิธีกรรมเหล่านี้ได้เคลื่อนย้ายตนเองมาอยู่ในวันหยุดราชการ ดังจะเห็นได้จากร่องรอยของชื่อวันหยุดราชการที่ยังคงใช้คำว่า“พระราชพิธี” รวมถึงยังมิได้มีการใช้คำ ว่า “วัน” นำ หน้ากิจกรรมที่เป็นวันหยุดราชการในประกาศดังกล่าวนี้ด้วย ซึ่งจะแตกต่างกับในช่วงเวลาภายหลังที่วันพระราชพิธีหรือกิจกรรมเหล่านี้จะมีคำ ว่า “วัน” นำ หน้าทั้งหมด นับเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงรอยต่อของการพยายามเปลี่ยนผ่านพิธีกรรมมาสู่การเป็นวันสำคัญแห่งชาติ ขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นด้วยว่ารัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยังไม่สามารถที่จะจัดสมดุลของการใช้วันหยุดราชการในช่วงของการเปลี่ยนผ่านของพิธีกรรมได้อย่างลงตัว
สรวิชญ์ ฤทธิจรูญโรจน์
บรรณานุกรม