Museum Core
วงดนตรีแจ๊สยุคแรกในไทย
Museum Core
13 ก.ค. 63 6K

ผู้เขียน : สรวิชญ์ ฤทธิจรูญโรจน์

วงดนตรีแจ๊สยุคแรกในไทย

 

คนทั่วไปมักคิดว่าดนตรีแจ๊สเป็นเพลงที่ฟังยาก เป็นเพลงชั้นสูงขนาดว่าต้องปีนบันไดฟัง แต่ความเป็นจริงแล้วดนตรีแจ๊สถือกำเนิดโดยคนผิวดำเมืองนิวออร์ลีนส์ ดินแดนทางตอนใต้ของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นทาสจากทวีปแอฟริกันที่ถูกกวาดต้อนมาใช้แรงงาน ซึ่งก็มีการร้องรำทำเพลงเพื่อผ่อนคลายความเครียดจากการทำงานหนัก
โดยดนตรีแจ๊สถือกำเนิดขึ้นราวปีค.ศ.1920 (พ.ศ.2463) รูปแบบของวงดนตรีดนตรีแจ๊สในยุคแรกเรียกว่า ดิกซีแลนด์ มีนักดนตรีในวงประมาณ 5-8 คน ประกอบด้วยคอร์เน็ต หรือทรัมเป็ต โดยมีคลาริเน็ตและทรอมโบนบรรเลงในลักษณะของการสอดประสานทำนอง ต่อมามีการเพิ่มแซกโซโฟนเข้าไปในวงดนตรี ส่วนเครื่องประกอบทำนองได้แก่ กลองชุด เปียโน แบนโจ ทูบา บรรเลงโดยใช้การอิมโพรไวเซชั่น จากนั้นในปีค.ศ.1930 (พ.ศ.2473) ดนตรีแจ๊สแบบดิกซีแลนด์ ได้พัฒนาการจัดรูปแบบวงเกิดเป็นดนตรีแจ๊สประเภทขึ้นใหม่เรียกว่า สวิง เพื่อใช้ประกอบการเต้นรำ

วงเรนโบว์คลับ


สันนิษฐานว่าดนตรีแจ๊สเริ่มเข้าสู่เมืองไทยประมาณปลายรัชกาลที่ 6 อย่างไรก็ตามบุคคลที่มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาดนตรีแจ๊สยุคเริ่มแรกใน คือ หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ กล่าวคือ หลังท่านเดินทางกลับมาประเทศไทยหลังสำเร็จการศึกษาที่ประเทศอเมริกา พบว่าในขณะนั้นยังไม่มีวงดนตรีเต้นรำดี ๆ ในปีพ.ศ.2471 จึง รวมตัวกับกลุ่มนักดนตรีจัดตั้งวงดนตรีแจ๊สชื่อว่า “เรนโบคลับ” เล่นประจำที่โฮเต็ลพญาไทสปอร์ตคลับ


“ในประเทศไทยนี้ไม่มีวงดนตรีเต้นรำดีๆ เลย เพราะความนิยมในการเต้นรำยังมีน้อย ...เมื่อข้าพเจ้ากลับมาถึงใหม่ ๆ มีอยู่วงหนึ่งเล่นประจำอยู่ที่สปอร์ตคลับเพียง ๕-๖ คน หัวหน้าวงเขาเห็นข้าพเจ้าเล่นเทเนอร์แบนโจ เขาว่าฝีมือดี ขอให้ไปช่วยเล่นรวมกับเขาด้วย เขาให้ครั้งละ 10 บาท ข้าพเจ้าเป็นคนสนุกและชอบเล่นดนตรีมาก จึงได้ไปร่วมเล่นกับเขาเสมอ ต่อมาจึงได้ตั้งขึ้นเอง วงหนึ่ง เรียกว่า "เรนโบคลับ" คัดเลือกพวกเล่นดีๆ”

 

วงเรนโบว์ เป็นวงแจ๊สแบบดิกซีแลนด์ที่ขณะนั้นได้รับความนิยมในอเมริกา ประกอบด้วยสมาชิก 8 คน หนึ่งในนั้นคือ เอื้อ สุนทรสนาน (เล่นแซ็กโซโฟน) ต่อมาวงดนตรีของหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์กลายเป็นวงดนตรีบริษัทไทยฟิล์มที่ร่วมก่อตั้งกับพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล จนเมื่อบริษัทไทยฟิล์มเลิกดำเนินกิจการ นักดนตรีก็โอนไปเป็นวงดนตรีของกรมโฆษณาการซึ่งเป็นกรมที่จัดตั้งขึ้นใหม่


วงมานิตแจ๊ส

วงดนตรีแจ๊สร่วมสมัยเดียวกันคือ วงมานิตแจ๊ส ในปี พ.ศ. 2478 เรือโทมานิต เสนะวีณิน ได้สร้างวงมานิตแจ๊ส ประกอบด้วยนักดนตรีหญิงล้วนเพื่อร่วมแสดงในภาพยนตร์เรื่อง เมืองแม่หม้าย ผลิตโดยบริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุง ได้รับบทบาทให้แสดงดนตรีในฉากหนึ่งซึ่งสื่อให้เห็นสภาพสังคมของเมืองที่มีแต่ผู้หญิง เพลงส่วนใหญ่เป็นผลงานเพลงของเรือโทมานิต
วงมานิตแจ๊สรวมตัวกันอยู่ในช่วงเวลาที่สั้น ทำให้มีผลงานไม่มากเท่าที่ควร สาเหตุสำคัญที่ต้องแยกวงเนื่องจากบาทหลวงท่านหนึ่งที่เรือโทมานิตเคารพ ให้ความเห็นว่าวงดนตรีผู้หญิงล้วนไม่เหมาะสมต่อการเดินทางไปเล่นดนตรีในที่ต่าง ๆ เช่นโรงภาพยนตร์ อาจเป็นที่ติเตียนต่อสังคมได้ จึงจำเป็นต้องยุติวง

 

วงกรมโฆษณาการ

กรมโฆษณาการในขณะนั้นต้องการสร้างวงดนตรีแจ๊ส เพื่อใช้ในกิจการวิทยุคลื่นสั้นต่างประเทศ จึงปรึกษากับหลวงสุขุมนัยประดิษฐ ให้นำวงดนตรีประจำบริษัทภาพยนตร์เสียงไทยฟิล์มที่เลิกกิจการแล้วมาประจำอยู่กรมโฆษณาการ จึงมีคำสั่งให้บรรจุนักดนตรีให้รับราชการในกองวิทยุต่างประเทศก่อน จากนั้นจึงโอนตัวไปรับราชการที่กรมประชาสัมพันธ์ สะพานเสี้ยว ถนนราชดำเนิน
วงดนตรีกรมโฆษณาการนิยมบรรเลงเพลงสากลที่เป็นที่นิยมกันในสมัยนั้น เช่น เพลง Bugel call rage ที่ Benny Goodman นักแต่งเพลงและนักคาริเน็ตแจ๊สชื่อดัง นำมาบรรเลง ที่นำเพื่อออกอากาศให้ความบันเทิงแก่ประชาชนในช่วงสงครามโลก โดยหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ก็มีบทบาทในวงกรมโฆษณาการด้วยเช่นกันโดยเป็นคนดูแลการจัดซื้อโน้ตเพลงจากต่างประเทศเพื่อนำมาใช้บรรเลง


วงสุนทราภรณ์

อันที่จริงวงสุนทราภรณ์ก็คือวงดนตรีกรมโฆษณาการ วงดนตรีกรมโฆษณาการนั้นเป็นวงดนตรีของรัฐบาล มีหน้าที่หลักคือการบรรเลงดนตรีตามคำร้องขอ และการบรรเลงดนตรีผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงกรมโฆษณาการตามนโยบายของรัฐบาล
โดยจะใช้ชื่อวงสุนทรภรณ์ในการแสดงดนตรีนอกเวลาราชการ ถือว่าเป็นวงดนตรีชั้นนำ ที่ใช้บทเพลงในแนวบิ๊กแบนด์สำหรับเต้นรำทุกแนวรวมทั้งแจ๊สด้วย บรรเลงเพื่อสร้างบันเทิงตามงานสังสรรค์ บทเพลงที่นำมาบรรเลงจึงเน้นจังหวะสนุกสนานประกอบการเต้นรำและการฟังเพื่อสร้างความบันเทิง


อย่างไรก็ตามยังมีวงดนตรีแจ๊สในยุคเริ่มต้นอีกหลายวง เข่น วงดนตรีดุริยะโยธิน ประจำกองดุริยางค์กองทัพบก วงดนตรีของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ วงดนตรีเทศบาล กรุงเทพมหานคร วงดนตรีวงดนตรีศรสวรรค์ วงดนตรีลูกฟ้า วงดนตรีลูกทะเล วงดนตรีสามสมอ ซึ่งเป็นวงที่เกิดจากการรวมตัวของสมาชิกในกองดุริยางค์ต่างๆ และยังมีวงเอกชน เช่น วงวายุบุตร วงดนตรีศรฟ้า วงดนตรีพันตรีศิลปะ วงดนตรีป.ชื่นประโยชน์ วงดนตรีบางกอกช่า ช่า ช่า วงดนตรีกรุงเทพศิลปิน เป็นต้น

ปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้ดนตรีแจ๊สแพร่หลายในเมืองไทย ได้แก่ นักเรียนนอก แผ่นเสียงเพลงแจ๊ส เมื่อคนไทยกลุ่มหนึ่งที่สนใจการเต้นรำได้รวมตัวกันก่อตั้งสมาคมลีลาศ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ได้ร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐและเอกชนในการพัฒนาดนตรีแจ๊สให้ก้าวหน้าต่อไปอีกขั้นดนตรีแจ๊สในยุคเริ่มต้นนั้นมีบทบาทหน้าที่แบ่งเป็น 3 ด้าน คือ ประกอบภาพยนตร์ ประกอบการเต้นรำ และเพื่อความบันเทิง

 

สรวิชญ์ ฤทธิจรูญโรจน์

 

บรรณานุกรม

  • กมลธรรม เกื้อบุตร. (2557). ดนตรีเต้นรำในสังคมและวัฒนธรรมไทย. วิทยานิพนธ์ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ดนตรี). มหาวิทยาลัยมหิดล, สาขาวิชาดนตรี, วิทยาลัยดุริยางคศิลป์. เข้าถึงจาก https://dric.nrct.go.th/Search/SearchDetail/289426
  • เอื้อ สุนทรสนาน. (2507). หลวงสุขุมนัยประดิษฐ "พ่อพระ" ของวงดนตราสุนทราภรณ์. ปาริชาติ สุขุม เรียบเรียง. เข้าถึงจาก http://pradub-sukhum.com/Luang%20Sukhum%20Site/Luang%20Sukhum%20Book/Book%202/93.%20Entertaining.html

 

.

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ