การสุขาภิบาล หมายถึง การจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกและการบริการสำหรับการกำจัดที่ปลอดภัยของปัสสาวะและอุจจาระของมนุษย์ หากจัดการสุขาภิบาลไม่ดีพอจะเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรค ในทางตรงกันข้ามหากมีการสุขาภิบาลที่ดีจะเกิดประโยชน์ต่อสุขภาพทั้งในครัวเรือนและในทั้งชุมชน นอกจากนี้คำว่า “การสุขาภิบาล” ยังหมายถึงการบำรุงรักษาของสภาพทางสุขอนามัยผ่านการบริการเช่นการเก็บขยะและการกำจัดน้ำเสีย
ดังนั้นการปรับปรุงสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมหรือการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง ถือเป็นกิจการสาธารณสุขที่สำคัญที่สุดประการหนึ่ง และมีพัฒนาการไปตามยุคสมัย เปลี่ยนแปลงไปตามความเชื่อ ขนบธรรมเนียม สภาพสังคมและสภาพเศรษฐกิจ โดยงานแรกของการสาธารณสุขก็คือ “การควบคุมมิให้อาจมเข้ามาปะปนอยู่กับอาหาร” ทั้งนี้มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยปัจจัย 4 คือ อาหาร อากาศ น้ำและที่อยู่อาศัย ดังนั้นการสุขาภิบาลจึงมีความจำเป็นอย่างที่สุด และนักสาธารณสุขจึงต้องสนใจเรื่องสุขาภิบาลให้มากเป็นพิเศษ
ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ช่วงต้นรัชกาลที่ 5 ซึ่งขณะนั้นประเทศต่างๆ ในยุโรปกำลังพัฒนาการสุขาภิบาล และสยามเริ่มมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสุขาภิบาลขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2413 ภายใต้พระราชบัญญัติธรรมเนียมคลอง ห้ามขับถ่ายลงลำคลองโดยตรง
"ห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ทั้งสองฝั่งนั้น ทำเวจและถ่ายอุจจาระลงไปในลำคลองนั้น เททิ้งสิ่งของอันโสโครก คือ เนื้อสัตว์ใหญ่ต่างๆ แลแมว สุนัข สุกรตายเป็นอันขาดทีเดียว ….. ถ้าผู้ใดตั้งบ้านเรือนอยู่ริมคลองเหล่านั้น จะทำเวจถ่ายอุจจาระที่ริมคลองก็ให้ก่อด้วยอิฐฤาทำด้วยไม้ เป็นหีบลงไปในแผ่นดินให้มีประตูเปิดได้ปิดได้ไปข้างริมคลอง สำหรับรับของโสโครกให้มิดชิด" ต่อมาในปี พ.ศ. 2432 มีการเปลี่ยนแปลงเป็น "ผู้ใดจะตั้งเวจ (ส้วม) ก็ให้ตั้งพ้นคันคลองขึ้นไป 5 เส้น (200 เมตร) จะได้ไม่เป็นที่รังเกียจน้ำในคลองซึ่งจะบริโภคใช้สอย"
อย่างไรก็ตามอุจจาระหรือสิ่งปฏิกูลต่างๆ ก็จะมีเจ้าหน้าที่ขนไปทิ้งที่แม่น้ำใหญ่ ก็ยังเป็นที่น่ารังเกียจอยู่ดี หมอบรัดเลย์จึงมีความคิดในการกำจัดอุจจาระด้วยการบังคับให้ราษฎรใช้ส้วมหลุม
แต่กฎหมายที่นับว่าเป็นกฎหมายการสุขาภิบาลโดยตรงฉบับแรก คือ พระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ. 116 โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะป้องกันโรคระบาดไม่ให้แพร่กระจาย
"ด้วยการสุขาภิบาลกรุงเทพพระมหานครนั้น เป็นการสมควรที่จะตระเตรียมการขึ้นไว้ และจะได้จัดการให้สำเร็จบริบูรณ์เป็นแบบต่อไป เพื่อจะได้ป้องกันโรคภยันตรายของมหาชน ... เพื่อจะได้ดำริทำข้อบังคับแลทำการต่าง ๆ ตามสมัยตามคราวอันควรแก่การรักษาความสะอาด ป้องกันไม่ให้เกิดโรคภัย กับทั้งจะให้ได้เป็นระเบียบเรียบร้อยและงดงาม ให้เป็นที่เจริญทั่วไปตลอดเขตแขวงพระนครนั้น"
โดยมีกรมสุขาภิบาล กระทรวงนครบาล รับผิดชอบปฏิบัติงานในการตรวจตราสุขลักษณะของสถานที่ต่าง ๆ เช่น ตลาด โรงฆ่าสัตว์ ที่ทำการสูบน้ำ ที่อาบน้ำ โรงซักผ้า ส้วม ตลอดจนการกวาดถนนและรดน้ำถนนด้วย และในประกาศกรมสุขาภิบาล ร.ศ.117 (พ.ศ.2441) ห้ามมิให้ผู้ใดผู้หนึ่งเทน้ำโสโครกลงในถนน หรือทำน้ำเปรอะเปื้อนถนน ตลอดจนห้ามถ่ายอุจจาระลงข้างถนนอันเป็นที่กลางแจ้ง และห้ามมิให้ทิ้งซากสัตว์ลงในที่สาธารณะด้วย
มีการกำหนดให้บางวัดสามารถเผาศพได้ตลอดทั้งปีหรือได้เฉพาะในฤดูลม (ลมว่าว ลมตะวันตก และลมตะเภา) วัดในกำแพงพระนครทุกวัดห้ามมิให้เผาศพโดยเด็ดขาด ยกเว้นวัดเทพศิรินทราวาส ให้เผาศพได้เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาต และต้องเผาให้เสร็จก่อนบ่ายสามโมง
ในการจัดสุขาภิบาลมีส่วนช่วยในการควบคุมโรคระบาด ในปี พ.ศ. 2447 กาฬโรคระบาดครั้งใหญ่ ในประกาศจัดการป้องกันกาฬโรค ร.ศ. 123 (พ.ศ.2447) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แพทย์สุขาภิบาลเรียบเรียงอาการของโรค และวิธีการป้องกันโรคเพื่อให้ราษฎรนำไปปฏิบัติเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของกาฬโรค
"ไข้กาฬโรคนี้ เปนโรคชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นจำเพาะในตำบลที่โสโครก ตำบลที่อยู่เบียดเสียดกัน และตำบลที่ไม่มีช่องอากาศโปร่ง ข้อต้นที่พึงกระทำคือ ให้กวาดล้างบ้านเรือนและบริเวณที่อยู่ให้สะอาด บรรดาขยะนั้น ควรจะรวมกันแล้วเผาเสีย พื้นเรือนและบันไดควรจะล้างให้สะอาด และฝาเรือนควรทาปูนขาว ควรจะระวังท่อน้ำอย่าให้ตัน ให้น้ำโสโครกไหลไปจากบ้านเรือนได้สะดวก อาหารที่รับประทานอย่าให้มีตัวแมลงต่าง ๆ ตอมได้ และทั้งหนูด้วย อย่าให้ไปถูกต้องได้ เพราะสัตว์เหล่านี้สามารถจะนำตัวโรค (เยิม) จากคนเจ็บมาที่อาหาร ทำให้ต่อเนื่องกันได้ ….. ให้ราษฎรทั้งหลาย ปฏิบัติตามข้อความแนะนำในประกาศนี้ จะได้พ้นจากโรคอันตรายอันน่ากลัว ….. อย่าพากันตื่นตกใจเชื่อถือถ้อยคำบอกเล่าที่ผิด ๆ "
ต่อมามีการทดลองการจัดการสุขาภิบาลที่ตำบลท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร ในปี พ.ศ. 2448 กิจการที่ทำได้แก่ การซ่อมแซมรักษาถนนหนทาง การรักษาความสะอาด การกำจัดขยะมูลฝอย การจุดโคมไฟตามถนนเป็นระยะ เป็นต้น เมื่อประสบความสำเร็จจึงได้ขยายการสุขาภิบาลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ด้วยโดยใช้ที่ท่าฉลอมเป็นต้นแบบ โดยมีการจำแนกกิจการสุขาภิบาลออกเป็น 3 ประเภทคือ (1) การรักษาความสะอาดในท้องที่ (2) การป้องกันและรักษาความไข้เจ็บในท้องที่ และ (3) การบำรุงรักษาทางไปมาในท้องที่ และแยกวิธีจัดการสุขาภิบาลออกเป็น 2 อย่างคือ สุขาภิบาลเมือง และสุขาภิบาลตำบล
จากการดำเนินการสุขาภิบาล ด้วยการจัดการสิ่งปฏิกูล สิ่งโสโครกเพื่อป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ เพื่อความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง สุขาภิบาลยังเป็นรูปแบบการปกครองท้องถิ่นที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย
สรวิขญ์ ฤทธิจรูญโรจน์