Museum Core
อัพเดทสถานการณ์โลก ของคนสมัยรัชกาลที่ 4
Museum Core
29 ก.ย. 63 416

ผู้เขียน : รัชนก พุทธสุขา

อัพเดทสถานการณ์โลก ของคนสมัยรัชกาลที่ 4

 

 

โพสครั้งแรก https://m.museumsiam.org/da-detail2.php?MID=3&CID=177&SCID=-1&CONID=4035&fbclid=IwAR0Eg2a08vhmwhHunIigs8fqZQ47sKn2zBxk8UiXPw2vOLG-l4-JKIQ7HfI

 

 

อัพเดทสถานการณ์โลก ของคนสมัยรัชกาลที่ 4

ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 การติดตามข่าวสารเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่ประสบกับปัญหาโรคระบาดนี้ แต่หลายเดือนที่ผ่านมาจะเห็นว่าหลายประเทศทั่วโลกก็ประสบปัญหาเดียวกัน การอัพเดทสถานการณ์จึงสำคัญ แถมทำได้ง่ายนิดเดียวในยุคที่ข้อมูลข่าวสารพร้อมเสิร์ฟบนฝ่ามือเราผ่านสมาร์ทโฟน แต่ถ้าย้อนกลับไปร้อยกว่าปีก่อนล่ะ คนรุ่นก่อน เขาทำอย่างไร ?

 

บอกได้เลยว่า แม้จะยากเย็นเพียงใด ก็ไม่เกินความสามารถของคนรุ่นก่อน


การรับรู้ข่าวสารของคนไทยในสมัยรัชกาลที่ 4 ส่วนใหญ่มาจากเหล่ามิชชันนารีที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์ โดยกลุ่มมิชชันนารีได้นำความรู้และข่าวสารเข้ามาไปพร้อม ๆ กันด้วย เช่น หมอบรัดเลย์ก็ได้ตั้งโรงพิมพ์และจัดทำหนังสือพิมพ์ บางกอกรีคอร์เดอร์ (หนังสือจดหมายเหตุ) เพื่อเผยแพร่ข่าวสาร

บางครั้ง เราอาจจะอ้างว่า รู้แค่สถานการณ์ในไทยก็ปวดเศียรเวียนเกล้ามากพอแล้ว ไม่อยากรู้เรื่องต่างประเทศให้หนักหัว แต่รู้หรือไม่ คนในสมัยรัชกาลที่ 4 อยากรู้กระทั่งว่า ข่าวสารในประเทศของเราเองนั้นฝรั่งเขียนถึงหรือมีมุมมองอย่างไร จึงพากันอ่านหนังสือพิมพ์ภาษาต่างประเทศที่ตีพิมพ์ในไทย และหนังสือพิมพ์ที่ตีพิมพ์ในต่างประเทศ

 

หนังสือพิมพ์เหล่านี้ยังให้ข่าวสารที่สำคัญแห่งยุค นั่นคือ การรุกคืบของจักรวรรดินิยม

 

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้แปลออกเป็นภาษาไทยซึ่งเข้าใจว่าเพื่อจะให้เจ้านายและขุนนางได้อ่านกันในวงกว้าง เช่น พ.ศ. 2396 แปลหนังสือพิมพ์สเตรทไทม์ของสิงคโปร์หลายฉบับ ซึ่งตีพิมพ์เรื่องพม่ากับอังกฤษรบกัน เรื่องกบฏเมืองจีน และเรื่องพ่อค้าบอมเบย์วิจารณ์สภาพการณ์ในเมืองไทย ใน พ.ศ. 2398 แปลหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกันซึ่งวิจารณ์เรื่องเบาว์ริงทำสัญญาการค้ากับไทย เมื่อมีพระราชพิธีราชาภิเษกในปรัสเซีย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงมีพระราชหัตถเลขาว่า "ได้ทราบมาแต่ความในหนังสือข่าวดีตีพิมพ์มาแต่ยุโรปหลายฉบับ"

 

ความรู้จากหนังสือทั่วไปที่มาจากแหล่งต่าง ๆ ก็คงมีอยู่ไม่น้อยในช่วงนั้น จดหมายเหตุฉบับหนึ่งใน พ.ศ. 2401 ซึ่งเป็นบัญชีหนังสืออังกฤษ ปรากฏว่าบนพระที่นั่งราชฤดีมีอยู่ถึง 100 เล่ม และในหอหลวงห้องอาลักษณ์มีอยู่ 49 เล่ม เมื่อหม่อมราโชทัยเดินทางกลับจากอังกฤษก็ได้นำหนังสืออังกฤษจำนวน 25 เล่มมาทูลเกล้าฯ ถวาย และเมื่อทางสหรัฐอเมริกามีสาส์นของประธานาธิบดีมาถึงใน พ.ศ. 2403 ก็ได้ฝากหนังสือมาทูลเกล้าฯ ถวายด้วยเป็นจำนวน 192 เล่ม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบว่า "ขอบคุณความไมตรีซึ่งผู้ครองแผ่นดินยุไนติศเตศ มีอารีรักต่อเราพระเจ้ากรุงสยาม คิดจะให้เจริญรุ่งเรืองด้วยความรู้ต่าง ๆ จึงฝากมานั้น"

 

ความรู้และข่าวสารที่ผ่านเข้ามาสู่สังคมไทยก็มีความสำคัญเช่นกัน เมื่อราชทูตไปอังกฤษใน พ.ศ. 2400 ทรงมีพระบรมราชโองการว่า "แลทูตานุทูตซึ่งได้ออกไปยังกรุงบริตาเนียครั้งนี้ ขอให้ได้รับรู้เห็นการในประเทศยุโรปบางสิ่งตามประสงค์เปนประโยชน์แก่กรุงสยามบ้าง" เข้าใจว่าบรรดาทูตหรือกงสุลจากประเทศต่าง ๆ ก็คงนำความรู้และข่าวสาร เข้ามาเช่นนั้น เช่น ข่าวบางประการนั้น "กรุงสยามได้ทราบมาแต่พวกทูตของกรุงปรุสเซียที่เข้ามา" และระหว่างพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเบาว์ริงก็คงมีการแลกเปลี่ยนความรู้กันไม่น้อย

 

ด้วยเหตุที่ความรู้และข่าวสารต่าง ๆ เข้ามาสู่สังคมไทยหลายต่อหลายทางเช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจอันที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงประกาศว่า พระองค์ทรงเชื่อว่าโลกกลมก่อนที่พวกมิชชันนารีจะมาเสียอีก พระราชหัตถเลขาฉบับหนึ่งซึ่งกล่าวถึงหนังสือกราบบังคมทูลของหม่อมราโชทัยจากอังกฤษเป็นพยานอย่างดีว่าพระองค์ทรงติดตามข่าวสารจากหนังสือพิมพ์และจากคนที่เข้าเฝ้าในเมืองไทยอย่างจริงจังดังความว่า "ข้าพเจ้าทราบเป็นแน่แท้ว่าการทูตครั้งนี้ปดกันไม่ได้เหมือนทูตไปเมืองปักกิ่งแต่ก่อน เพราะสารพัดจะมีจะเล่าว่าในหนังสือพิมพ์หมดทุกสิ่งยิ่งกว่าเราจะบอกด้วยเขียนหนังสือถึงกันอีก และคนอังกฤษที่เข้ามาเขาก็มาเล่าเสียก่อน" ปรากฏว่าทรงอ่านหนังสือพิมพ์ไทม์ที่ออกในอังกฤษด้วย

 

ความรู้และข่าวสารอีกส่วนหนึ่งแม้ว่าอาจจะไม่เป็นประโยชน์ใช้สอยโดยตรง หากแต่ช่วยให้คนไทยสามารถปรับตัวและจัดการกับสถานการณ์และปัญหาใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงได้ดีขึ้น นอกจากนี้สิ่งของต่าง ๆ และวัฒนธรรมตะวันตกอื่น ๆ ยังกลายเป็นเครื่องหมายแห่งอารยธรรมที่คนชนชั้นสูงส่วนหนึ่งพยายามครอบครองและแสดงให้เป็นที่ปรากฏแก่ตาของผู้อื่น เช่น เจ้าฟ้ามงกุฎขณะทรงผนวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศน์นั้น ทรงตกแต่งห้องของพระองค์ด้วยสิ่งของอันเป็นเครื่องหมายว่า ทรงมีความรู้แบบตะวันตก หรือพระราชวังของสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็มีการตกแต่งประดับประดาแบบยุโรปและใช่ธรรมเนียมอย่างยุโรป ตามที่หมอบรัดเลย์บรรยายว่า "ข้าพเจ้าเข้ามาในพระราชวังเนือง ๆ ดูการงานตามอย่างชาวยุโรปที่มีในพระราชวังนั้นดูเรียบร้องงดงามนั้น ข้าพเจ้ามีความสบายใจเหมือนข้าพเจ้าได้ไปเยี่ยมพวกพ้องของข้าพเจ้า ที่บ้านข้าพเจ้าในครั้งหนึ่งฉะนั้น"

 

การอัพเดทสถานการณ์โลกของคนในสมัยรัชกาลที่ 4 ไม่เพียงแต่จะทำให้รู้ข่าวสารที่เกิดขึ้นภายนอกเพื่อปรับตัวได้อย่างทันท่วงที แต่ยังเป็นการเปิดรับความรู้ของวัฒนธรรมตะวันตกเพื่อนำมาปรับใช้ในประเทศให้ให้มีความทันสมัยอีกด้วย

 

ในสถานการณ์เกี่ยวกับโควิด-19 ก็เช่นกันเราจะเห็นกรณีศึกษาจากประเทศที่ประสบปัญหาเดียวกัน ก็มีการหยิบยืมวิธีการต่าง ๆ ข้ามพรมแดนกันไปมาเพื่อรับมือกับสถานการณ์ ซึ่งเป็นผลจากการรายงานข่าวสารและอัพเดทสถานการณ์ว่าแต่ละประเทศ เขาทำอะไรกันบ้าง มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เช่น ข่าวที่มีคนยุโรปเปลี่ยนจากการจับมือ กอด จูบ มาเป็นการไหว้สวัสดี เพื่อลดการสัมผัส การเลียนแบบกันทำชาเลนซ์ต่าง ๆ ผ่านโซเชียลมีเดีย เช่น การอัดคลิปล้างมือแบบถูกวิธี หรือการที่ประชาชนในหลาย ๆ ประเทศนัดหมายกันปรบมือให้กำลังใจเจ้าหน้าที่สาธารณสุข การทำแผ่นป้ายเชิญชวน "Work from Home" ... เห็นไหมล่ะว่า การอัพเดทสถานการณ์โลกเป็นสิ่งที่เราสามารถลงมือทำกันได้ง่าย คนในสมัยรัชกาลที่ 4 ทำกันได้เราก็ทำได้ แถมเรายังเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายกว่า

 

แต่ละยุคสมัยก็มีวิกฤติให้ต้องผ่านพ้น แต่การจะผ่านพ้นได้นั้น การติดตามข่าวสารเป็นเรื่องสำคัญ ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่คนในสมัยรัชกาลที่ 4 เผชิญ นั่นคือการเผชิญกับจักรวรรดินิยม หากมัวแต่จำกัดพรมแดนความรู้ ก็จะไม่ทราบเลยว่าในอีกซีกโลกเขาพัฒนาอะไรไปแล้วบ้าง และในดินแดนเพื่อนบ้านต้องเผชิญกับอะไรบ้าง ซึ่งในยุคอาณานิคมนั้นสยามได้บทเรียนจากเพื่อนบ้าน ทั้งสงครามฝิ่นในจีน สงครามระหว่างอังกฤษกับพม่า จึงเป็นกรณีศึกษาให้รัชกาลที่ 4 รับมือกับจักรวรรดิอังกฤษด้วยวิธีการทูต และต้อนรับการเข้ามาเจรจาของเซอร์ จอห์น เบาว์ริ่ง

 

ในวิกฤติจาก โควิด-19 ก็เช่นกัน แม้เจ้าไวรัสนี้ไม่ใช่จักรวรรดินิยม แต่ก็พร้อมจะยึดพื้นที่ต่าง ๆ จากพื้นที่ที่ปลอดโรคให้เป็นพื้นที่เสี่ยงจนเราไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันอย่างที่คุ้นชินได้อีกต่อไป การปรับตัวจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งการติดตามข่าวสารอัพเดทสถานการณ์ทั้งในและต่างประเทศ เชื่อว่าจะเป็นตัวช่วยที่ทำให้เราปรับตัวได้ทันท่วงที และถูกวิธี

 

 

 

อ้างอิง

 

สายชล วรรณรัตน์. ผลกระทบของหมอบรัดเลย์ต่อสังคมไทย. ในการสัมมนาหมอหมอบรัดเลย์กับสังคมไทย. จัดโดยสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ โครงการไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2528. หน้า 4 - 12.

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ