Museum Core
รักคุณเข้าแล้ว: ถนนข้าวสาร
Museum Core
22 ธ.ค. 63 1K
.

ผู้เขียน : สมปอง ดวงไสว

             “รักคุณเข้าแล้ว เป็นไร รักจนคลั่งไคล้ จริงจัง คุณ รักใครหรือยัง ฉันท์ใด”

            เล่าลือกันว่าเพลงรักคุณเข้าแล้วที่คุณสุเทพ วงศ์กำแหง ร้องไว้เมื่อปีพ.ศ. 2497  นั้นดัง กระหึ่มทั้งประเทศ  แล้วในปี พ.ศ.นี้ล่ะ ผมได้ยินแว่วเสียง “รักคุณเข้าแล้ว” ดังมาจากถนนข้าวสาร

             ผมยืนอยู่ที่ต้นถนนข้าวสาร แล้วมองตรงออกไปเบื้องหน้าเห็นสองฟากถนนข้าวสารเต็มตา เห็นตึกรามร้านค้าที่ใช้ชื่อภาษาเหมือนต่างประเทศ ใช่ถนนข้าวสารแน่หรือ  นึกถึงรักคุณเข้าแล้ว แล้วเดินหน้าตามหาเสียงแว่วต่อไป

            ข้าวสารเป็นส่วนหนึ่งของย่านบางลำพู แต่แล้ววันหนึ่งข้าวสารก็ดังกว่าบางลำพู แถมดังแบบไม่ธรรมดา เรียกว่าดังเป็นพลุแตกไปทั่วโลกเมื่อทั้งภาพยนตร์และหนังสือเรื่องเดอะบีช ของอเล็กซ์ การ์แลนด์ ( Alex Garland) เปิดเรื่องที่ถนนข้าวสาร เขียนถึงถนนข้าวสาร และภาพยนตร์มาถ่ายทำที่ถนนข้าวสารไว้เมื่อปี พ.ศ. 2538  แล้ว
อเล็กซ์ยังเขียนนินทาถนนข้าวสารไว้อีกว่า 

          “จะมีที่ไหนหนอที่มีคนสารพัดชาติมารวมตัวกันที่นี่  ที่ถนนข้าวสาร  ถนนที่เพียบไปด้วยเรื่องเหลือเชื่อ เพราะที่นี่คุณจะหาเทปผีจากวงดังวงไหนก็ได้ในโลก  มีที่พักราคาถูก”

           เพียงแค่นี้คำพูดของอเล็กซ์ การ์แลนด์ ก็กลายเป็นประวัติศาสตร์ไปเรียบร้อย   ข้าวสารเป็นศูนย์กลางของการพบปะแล้วเดินทางต่อของนักเดินทางท่องเที่ยวทั่วโลก รักคุณเข้าแล้ว ข้าวสาร

 

 

ภาพที่ 1 : ถนนข้าวสาร ถนนแสนสั้นแต่ตำนานยืดยาวและโด่งดังไปทั้งโลก

 

 

ถนนข้าวสาร

           ถนนข้าวสารเป็นถนนสั้นๆ ยาวเพียง 402 เมตร ตัดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ปี พ.ศ. 2435 โดยกรมโยธาธิการ ในสมัยก่อนเป็นยุคถนนกรุงเทพยังเป็นเวนิสตะวันออกใช้แม่น้ำลำคลองเป็นเส้นทางสัญจรหลัก มีคลองบางลำพู หรือคลองรอบกรุง คลองผดุงกรุงเกษมเป็นเครือข่ายคลองที่เชื่อมโยงถึงกัน และบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยา ทีมี

           ถนนข้าวสารเป็นแหล่งค้าข้าวสารที่นำข้าวสารจากโรงสีหลวงที่ตั้งอยู่ที่สะพานช้างโรงสี แล้วล่องเรือจากคลองคูเมืองเดิมมาเข้าคลองบางลำพู คลองโรงไหม เชื่อมมาเข้าคลองรามบุตรีหน้าวัดชนะสงคราม   ถนนข้าวสารได้ชื่อว่าเป็นแหล่งค้าข้าวสารแหล่งใหญ่ของพระนครแต่ที่จริงก็มีการค้าขายสินค้าอย่างอื่นด้วย

          ข้าวสารในอดีตจากคำบอกเล่าในหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพคุณเกษม  พินิจดุลอัฏ ได้เล่าชีวิตอดีตที่ถนนข้าวสารให้หลานสาวบันทึกไว้ว่า

            “ถนนข้าวสาร เดิมเรียกว่าตรอกข้าวสาร พื้นถนนเป็นดินลูกรัง เป็นตรอกขนาดกว้างใหญ่ มีบ้านคนใหญ่คนโตอยู่หลายหลัง” บ้านใครบ้างนะ คุณเกษมบอกอีกว่า

            “บ้านพระยาราชวังสันอยู่เยื้องกับหน้าบ้านคุณน้าเกษม  หลังบ้านเป็นบ้านพระยานิติศาสตร์ไพศาล ถัดไปซ้ายมือเป็นห้องแถวไม้ชั้นเดียว มีตรอกเล็กๆ ทะลุไปถึงตรอกตานี เมื่อก่อนเป็นคลองเดี๋ยวนี้เป็นตึกหมดแล้ว  ต่อจากบ้านคุณน้า ทางซ้ายมือเว้นไปสักระยะหนึ่ง เป็นบ้านพระยาอาทรธุรศิลป์ เมื่อเจ้าคุณตายแล้วตกเป็นของคุณหญิงเชย กฤตราชทรงสวัสดิ์ คุณหญิงเชย แต่งงานกับพระยากฤตราชทรงสวัสดิ์ บ้านหลังนี้หน้าบ้านติดถนนข้าวสารหลังติดตรอกตานีเข้าออกได้ทั้งสองทาง”

            คุณเกษมเล่าต่อถึงบ้านคนสำคัญ “จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์  บิดาท่านชื่อหลวงเรืองเดชอนันต์ บ้านอยู่หัวถนนข้าวสาร อยู่ตรงที่เป็นร้านขายข้าวขาหมู  ส่วนบ้านคุณเกษมนั้นฝั่งตรงข้ามเป็นสถานที่อักษรเลข (เทียบกับปัจจุบัน คือ สำนักเลขานุการผู้ว่าราชการจังหวัด) ใต้ถุนมีที่คุมนักโทษ ปัจจุบันเป็นธนาคารกรุงไทย สาขาถนนข้าวสาร”

            ถนนสายสั้นๆสายนี้ มีเรื่องราวของชีวิตผู้คนบ้านเรือนในอดีตอยู่มากมาย วันนี้หากออกเดินไปตามลายแทงที่คุณเกษม พินิจดุลอัฏ เล่าไว้ จะพบเจอหรือไม่อย่างไร  เดินตามหาร่องรอยรักคุณเข้าแล้วต่อไป

           จากคำบอกเล่า บ้านคุณเกษม เมื่อไปยืนฝั่งธนาคารกรุงไทยมองกลับมาหาบ้านคุณเกษม จะไม่เจอบ้าน เจอแต่บาร์ใหญ่ที่ชื่อเดอะวัน ซึ่งคุณอมรสุดา กาญจนภี หลานย่าคุณเกษมยืนยันว่า บ้านของคุณย่าปัจจุบันคือเดอะวันนั่นแหละ  แม้จะไม่เห็นบ้านเรือนหลังนี้ดังเช่นในอดีตได้ แต่ร่องรอยของบ้านที่ถนนข้าวสารแห่งนี้มีตำนานที่น่าสนใจ 

 

 

ภาพที่ 2 : สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ หรือเกียรติพงศ์ กาญจนภี ศิลปินแห่งชาติด้านการประพันธ์เพลง

 

 

ภาพที่ 3 : เดอะวัน บาร์ดังกลางถนนข้าวสาร อดีตคือบ้านเกิดของ สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ คนสร้างตำนานเพลงรัก

 

 

 คนสร้างตำนาน

          คุณเกษม เป็นลูกของพันเอกพระหัตถสารศุภกิจกับคุณทิพย์  พื้นเพมาจากสุพรรณบุรี  เติบโตและมาแต่งงานกับหลวงพินิจดุลอัฏ (พุฒ กาญจนภี) มีลูกสองคน คนหนึ่งเป็นชาย ชื่อเกียรติพงศ์ กาญจนภี และลูกสาวชื่อพนิดา กาญจนภี ทั้งสองคนเกิดและเติบโตใช้ชีวิตที่บ้านถนนข้าวสาร นายเกียรติพงศ์  เรียนที่รร. เซนต์คาเบรียล แล้วไปสอบเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แต่ไม่ได้ จึงไปสอบเข้าโรงเรียนนายเรือ เรียนอยู่สามปีสอบไม่ผ่านก็ออกจากโรงเรียนนายเรือ ว่างงานต่อมาได้มาทำงานกับนาวาอากาศเอกสวัสดิ์ ทิฆัมพร หัวหน้าคณะละครศิวารมณ์ ทำหน้าที่เป็นคนบอกบทละคร  จากนั้นก็ได้แต่งเพลงประกอบละครร่วมกับครูสง่า อารัมภีร์ เป็นเพลงละครดังในของยุคนั้น คือเรื่อง พันท้ายนรสิงห์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล  ซึ่งมีสุรสิทธิ สัตยวงศ์ เป็นพระเอก และสุพรรณ บูรณะพิมพ์เป็นนางเอก เขาทำงานเขียนเพลงละครกับครูสง่าจนหมดยุคละครเวทีแล้วมาสู่ยุคภาพยนตร์ในปีพ.ศ. 2491 ได้แต่งเพลงประกอบภาพยนตร์กับครูสมาน กาญจนผลิน โดยใช้นามปากกาในการเขียนเพลงว่า “สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์” (น.อ.สวัสดิ์ ทิฆัมพร เป็นผู้ตั้งให้  มาจากคำว่า สุนทรียะ (aesthetic)  แต่ปรับให้ไพเราะนุ่มนวลขึ้นจึงเป็นสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ ก็มาจากนามสกุล กาญจนภี) สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ คนนี้เป็นผู้สร้างตำนานเพลงรักจากย่านข้าวสาร

 

 

ข้าวสารย่านเพลงรัก

            แม้ว่าเกียรติพงศ์ กาญจนภี จะเป็นนักเศรษฐศาสตร์และเรียนจบจากอังกฤษ แต่ชีวิตอีกด้านที่รักการแต่งเพลง หลงใหลในบทเพลงมาตั้งแต่ยุคละครเวที ทำให้เขียนเพลงรัก เพลงคู่ชายหญิง ได้ไพเราะจับใจคนไทยจนมาถึงปัจจุบัน อย่างเพลงนี้เขียนไว้เมื่อปีพ.ศ. 2496 

 

            “แสงจันทร์นวลผ่อง นภาพราวพร่างดังทอง ยิ่งมองแล้วสุขอุรา เดือนสวยสว่างพร่างตา ฟ้าชื่นวิญญา จันทราจุมพิตทุกคืน” 

             เพลง “รัก” เป็นเพลงที่เขาเขียนขึ้นที่บ้านถนนข้าวสาร และในปีเดียวกันก็แต่งเพลง “รักคุณเข้าแล้ว” อีกเพลงที่เป็นทั้งประวัติศาสตร์และตำนานของเพลงไทยว่าเป็นเพลงแรกที่ใช้คำสรรพนาม “ผม” และ “คุณ” ในเพลง โดยเพลงนี้เขาเขียนให้สุเทพ วงศ์กำแหง ร้องก่อนที่สุเทพจะบินไปเรียนด้านศิลปะที่ประเทศญี่ปุ่นแล้วนำไปใส่เนื้อร้องเป็นภาษาญี่ปุ่นจนโด่งดังเสียจนคนญี่ปุ่นนึกว่านี้เป็นเพลงญี่ปุ่น

             “รักคุณเข้าแล้ว เต็มทรวง แล้วคุณ อย่าหวงสัมพันธ์ เรา คิดมารักกัน ดีไหม”

             สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์   เขียนเพลงเกี่ยวกับเพลงรักไว้นับพันเพลง เขาเป็นคนเขียนเนื้อเพลง ส่วนทำนองจะเป็นของครูเพลงอีกหลายคน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นครูสง่า อารัมภีร์ กับครูสมาน กาญจนะผลิน  เช่น เพลงรัก   รักปักใจ   รักคุณเข้าแล้ว  ที่รัก   รักพี่นะ  เพียงคำเดียว  สัญญารัก  นกเขาคูรัก ออเซาะรัก  วอนรัก  อุทยานรักไทรโยค รักเอ๋ยรักข้า  รักลอยลม  หวานรัก  เชื่อรัก  ขอให้รักกัน ล้วนแล้วแต่เป็นเพลงรักทั้งนั้น จะไม่ให้เรียกเขาว่าเป็นราชาเพลงรักได้อย่างไร 

             งานเพลงส่วนใหญ่แต่งขึ้นที่บ้านถนนข้าวสาร ทั้งบ้านของตัวเองและบ้านเรือนหอที่ใช้ชีวิตคู่กับชวนชื่น ไกรจิตติ ณ บ้านเลขที่ 201 บ้านพระยาอาทรธุรศิลป์ หรือที่รู้กันในชื่อบ้านไกรจิตติ แล้วยังมีเพลงที่เขาเขียนเมื่อสมัยไปเรียนเศรษฐศาสตร์ที่อังกฤษ เช่น คำคน ซึ่งครูสมานส่งทำนองไปให้ด้วยกลัวว่าจะลืมการแต่งเพลง แล้วเขียนเนื้อเพลงส่งกลับมาทางไปรษณีย์   โดยสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำจากเพลงวิหคเหินลม  รางวัลเสาอากาศทองคำจากเพลงใจพี่  และได้รับเกียรติยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาผู้ประพันธ์เพลงในปี พ.ศ. 2549

              แต่อีกด้านของชีวิตครูเพลงเป็นนักเศรษฐศาสตร์ และนักการธนาคารที่ประสบความสำเร็จ มีตำแหน่งเป็นถึงผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่สหธนาคาร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ธนาคารเอเซีย รวมถึงได้เป็นกรรมการบัญญัติศัพท์เศรษฐศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถาน

 

 

             

             

ภาพที่ 4 (ภาพบน) บ้านเลขที่ 201 บ้านพระยาอาทรธุรศิลป์ หรือบ้านไกรจิตติ ที่เป็นเรือนหอกับคุณชวนชื่น

และใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2504 จนย้ายออกไปอยู่ที่บ้านถนนสุขุมวิท

(ภาพล่าง) ลวดลายหน้าจั่วบ้านพระยาอาทรธุรศิลป์ บ้านไกรจิตติ บอกปีที่สร้าง ร.ศ. 127   

 

 

              ผมเดินบนถนนข้าวสาร จากเย็นจวนใกล้ค่ำ แสงสีข้าวสารเปลี่ยนไปไม่เหมือนกลางวันที่เคยได้เห็น ยังคงมีสีสัน มีชีวิตชีวา  เดินจากหัวถนนที่เป็นสถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม ผ่านย่านที่เป็นร้านอาหารผับบาร์อยู่มากมาย หลายแห่งใช้ชื่อถนนข้าวสารเพื่อบ่งบอกหมุดหมายที่สำคัญคือ ข้าวสาร เช่น Khaosan Silver, Khaosan Park Hotel,  Baan Khaosan, Khaosan Cloth Center, Khaosan Spa, Khaosan Palace Inn, Khaosan Center, Dr.Khaosan Clinic ใช้ภาษาต่างประเทศเป็นหลัก เพราะข้าวสารเป็นเมืองท่องเที่ยว แม้แต่ผัดไทย ต้มยำกุ้ง ก็ยังใช้ Pad Thai, Tom Yum Koong คนขายผัดไทยรถเข็นกำลังผัดเตรียมรับลูกค้าแบคแพคที่เดินทาง หรือหนุ่มแท็ททู ช่างสัก หรือ สาวผู้ถักผม  หรือแม่ค้าพ่อค้าเสื้อผ้าสัญลักษณ์ของไทยและข้าวสารก็เตรียมรับใช้นักท่องเที่ยวอย่างใจจดใจจ่อ เสียงเพลงสากลที่ชวนแดนซ์ ดังมาจากสองฟากถนน  แต่ผมกลับหวนนึกถึง รักคุณเข้าแล้ว เป็นไร

              ข้าวสารถนนที่มีวิถีชีวิต ยิ่งสงกรานต์ยิ่งมีชีวิตชีวาที่สุด ข้าวสารถนนที่น่าเรียนรู้  ใช่แต่จะมาสนุกตอนเฉพาะสงกรานต์เท่านั้นเมื่อไร

              ข้าวสารถนนแสนสั้น แต่ตำนานความรักยืนยาว  จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าเพลงรักที่ขึ้นชื่อติดหูติดใจคนไทยมายืนยาว เกิดจากคนสร้างตำนานเพลงรัก สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ ที่ถนนข้าวสาร 

              “ก็ที ผมยังรักคุณ  ก็คุณ รักบ้าง เป็นไร  ของ รักกันได้  อย่าคิดอะไร เลยคุณ ”

 

 หมายเหตุ   ผู้เขียนสำรวจและเก็บข้อมูลเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 และเขียนบทความในวันที่ 3 ธ.ค. 2563

 

สมปอง  ดวงไสว

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ