Museum Core
Tiong Bahru, The Living Museum
Museum Core
11 ต.ค. 64 1K
ประเทศสิงคโปร์

ผู้เขียน : วิภาวรรณ ศิริเผ่าสุวรรณกุล

          Tiong Bahru หรือ เตียงบาห์รู คือชื่อถนนและแหล่งชุมชนสุดคลาสิคในประเทศสิงคโปร์ ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเกาะ นักท่องเที่ยวส่วนมากจะรู้จักที่นี่ว่าเป็นย่านแหล่งรวมคาเฟ่สุดชิค มีสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ อาคารสีขาวนวลทอดยาวเป็นสี่เหลี่ยมสไตล์อาร์ตเดโก (Art Deco) ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกมาถ่ายรูปและเยี่ยมชมสถานที่แห่งนี้

 

          ที่มาของคำว่า Tiong Bahru มาจากการผสมผสานระหว่าง Tiong (终) ในภาษาจีนฮกเกี้ยนแปลว่า ตายหรือสิ้นสุด และคำว่า Bahru ในภาษามลายูแปลว่า ใหม่ รวมกันแล้วได้ความหมายว่า new cemetery หรือสุสานใหม่ เนื่องจากถนนสายนี้ตั้งอยู่ตรงข้ามกับถนนสายเก่าที่ชื่อ Tiong Lama เป็นบริเวณสุสานของชาวจีนในสมัยก่อน ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาล Singapore General Hospital

 

          จุดเริ่มต้นของการพัฒนาถนนสายนี้คือพ่อค้าชาวจีนที่มาทำการค้า ริเริ่มอยากมีบ้านพัก ที่อยู่อาศัยที่เป็นหลักแหล่งเพื่อตั้งรกราก ผนวกกับประชากรเริ่มอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นจากฝั่ง Tiong Lama ในปี ค.ศ. 1920 ทางการสิงคโปร์จึงได้มีการจัดตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบขึ้นมาชื่อ Singapore Improvement Trust หรือ SIT เพื่อดูแลโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยของรัฐให้แก่ประชาชน SIT ได้พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยบนถนน Lavender และถนน Kreta Ayer เป็นโครงการขนาดเล็ก ต่อมา SIT เข้ามาพัฒนาเตียงบารุเป็นโครงการลำดับที่ 3 นับว่าเป็นโครงการที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในขณะนั้น SIT เข้าซื้อพื้นที่บริเวณถนนเตียงบารุ 70-72 เอเคอร์ หรือประมาณ 180 ไร่ เพื่อกระจายการกระจุกตัวของประชากรที่อาศัยอยู่ใน Chinatown SIT จึงมีการปรับพื้นที่ให้เหมาะสมแก่การก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัย เนื่องจากเดิมบริเวณนี้เป็นพื้นที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลและเป็นเนินเขาลาดลงมาทำให้ต้องมีการถมที่ดินเพิ่มเติม

          การก่อสร้างอาคารตึกแถวในเตียงบาห์รู ได้ถูกแบ่งออกเป็น 3 ช่วงดังนี้ ช่วงก่อนสงคราม ช่วงสงคราม และช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

 

ภาพที่ 1 Block 57, ถนน Eng Hoon อาคารช่วงก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

ลักษณะเด่นกระจกสีเขียวที่หน้าต่าง ระเบียงอิฐ

 

          อาคารที่ถูกสร้างขึ้นก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 มีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่เรียกว่า Streamline Modern ลักษณะเด่นคือ หลังคาแบน มีโค้งเว้าที่มุมตึกไม่หักเหลี่ยม ใช้กระจกสีที่นำเข้าจากประเทศอังกฤษตกแต่งหน้าต่าง ใช้อิฐตกแต่งขอบระเบียง สามารถไปเยี่ยมชมตึกช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้ได้บริเวณ Block 55 ถนน Tiong Poh และ ถนน Eng Hoon

 

ภาพที่ 2: Block 78, ถนน Guan Chuan อาคารสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ตึกเกือกม้า

โค้งเว้ายาวตลอด สูง 5 ชั้น และอิฐตกแต่งระเบียง

 

          เมื่อมาถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่  2 ประเทศสิงคโปร์ถูกโจมตีจากกองทัพญี่ปุ่น ทางรัฐบาลจึงเกรงว่าประชาชนจะได้รับอันตรายจากการบุกรุกของทหารอากาศ ตึกรามบ้านช่องในสมัยนั้นจึงถูกสร้างให้มีหลุมหลบภัยระเบิดหรือเรียกว่า Air Raid Shelter อยู่ชั้นล่างสุดของอาคารรูปเกือกม้า (The Horse-Shoe Block) ในปี ค.ศ. 1939 ที่ตั้งอยู่ Block 78  หลุมหลบภัยนี้สามารถบรรจุคนได้ถึง 1,600 คน และยังเป็นตึก 5 ชั้นที่สูงที่สุดในบรรดาอาคารทั้งหมดในเตียงบาห์รูที่สร้างโดย SIT ปัจจุบันอาคารเกือกม้ายังคงสภาพเดิมอยู่และมีผู้อยู่อาศัย และตรงกลางปรับปรุงเป็นลานจอดรถ สามารถเยี่ยมชมหลุมหลบภัยได้จากทางลานจอดรถ

 

ภาพที่ 3: Block 47, ถนน Moh Guan Terrace บันไดวนนอกตึกสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

 

          ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง SIT ได้สร้างตึกแถว 4 ชั้นในรูปแบบอาร์ตเดโกโดยมีลักษณะตึกโปร่ง เน้นเส้นตรง เพื่อให้เหมาะแก่สภาพอากาศร้อนชื้นของสิงคโปร์ ด้านหน้ามีทางเดินเชื่อมตลอดตัวตึกกว้าง 5 ฟุต หรือที่เรียกว่า Five-foot ways นอกจากนี้ยังมีบันไดวน Spiral Staircases สร้างออกมานอกตัวอาคารเพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอยให้แก่ผู้อยู่อาศัย และเพิ่มพื้นที่ใช้สอยด้านหลังอาคารเพื่อประโยชน์ทางด้านสุขอนามัย เช่นการเก็บกวาดของเสียและขยะ การพัฒนาระบบห้องน้ำให้ทันสมัยแบบตะวันตก สามารถเดินชมสถาปัตยกรรมได้ตลอดแนวถนน Lim Liak และ Moh Guan Terrace ถัดจากตลาด Tiong Bahru Market

 

          ต่อมา Housing and Development Board (HDB) ได้มารับช่วงต่อจาก SIT เพื่อดูแลจัดการเรื่องที่อยู่อาศัยของรัฐบาลและ HDB ได้พัฒนาโครงการแหล่งที่อยู่อาศัยเพื่อชาวสิงคโปร์อีกมากมายในราคาที่เข้าถึงได้จวบจนถึงปัจจุบัน  สภาพอาคารและสถาปัตยกรรมของเตียงบาห์รูยังคงความสวยงามเหมือนเดิมจากต้นฉบับ เนื่องจากทางรัฐบาลได้อนุรักษ์อาคารเหล่านี้ไว้และมีการบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ เช่น การปรับปรุงหลังคา ตรวจสอบสภาพอาคาร การทำไฟทางเดินร่วม เป็นต้น

 

          เมื่อมีชุมชนก็ต้องมีตลาด ตลาดเตียงบาห์รูมีมาตั้งแต่สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อชุมชนเติบโต ตลาดสดที่มีพื้นที่จำกัดไม่เพียงพอต่อความต้องการในการจับจ่ายใช้สอย รัฐบาลมีการพัฒนาพื้นที่ตลาดมาโดยตลอด จนสร้างเป็นตึก 2 ชั้นในปี ค.ศ 2006 ปรับปรุงชั้นล่างเป็นตลาดสด ด้านบนเป็นแหล่งรวมร้านอาหารสำเร็จรูป หรือชาวสิงคโปร์รู้จักกันในชื่อ Hawker centre มีอาหารขึ้นชื่อของสิงคโปร์มากมายเช่น ข้าวมันไก่, Laksa (ลักซา), Yong Tou fu (หยงเตาฟู), Nasi Lemak (นาสิเลมัค), Rojak (โรจัก) เป็นต้น ไม่เพียงแต่นักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมและชิมอาหารท้องถิ่น ผู้คนในชุมชนเตียงบาห์รูก็มาใช้บริการที่นี่ เรียกได้ว่าเตียงบารุเป็นสวรรค์ของนักชิมเลยทีเดียว เพราะยังมีคาเฟ่สมัยใหม่ให้เลือก แต่ละร้านจะมีเมนูขึ้นชื่อที่แตกต่างกันและเป็นเอกลักษณ์ เช่น ครัวซองต์ชื่อดังที่ Tiong Bahru Bakery และทาร์ตสุดกรุบกรอบจากร้าน Drips Bakery ที่ตั้งอยู่ที่ในอาคารก่อนสงครามโลก หรือจะเป็นตึกเกือกม้าที่ตั้งของ Hua Bee ร้านกาแฟโบราณแบบ Kopi บรรยากาศในร้านจะพลุกพล่าน สั่งอาหารกันแบบรวดเร็วทันใจ ลูกค้าส่วนมากจะเป็นลูกค้าประจำที่คุ้นเคย และร้าน Forty Hands ที่เสริฟกาแฟรสเข้ม หอมกรุ่น และเค้กแครอทเนื้อแน่น รวมไปถึงร้าน Plain Vanilla ขายคัพเค้กนุ่มนิ่มหลากรส  เป็นต้น

 

           นอกจากเรื่องราวของสถานที่ สถาปัตยกรรมแล้ว ผู้คนยังเป็นส่วนหนึ่งของเตียงบาห์รูเสมอมา ชาวจีนโพ้นทะเลเข้ามาทำการค้าขายจนก่อเกิดชุมชน ทำให้บริเวณรอบๆ  มีการจัดตั้ง ตลาด วัด สวนสาธารณะ โรงพยาบาล และโรงเรียน รวมทั้งการใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นสุสาน หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เตียงบาห์รูเคยกลายเป็นย่านโคมแดงหรือหมู่บ้านนายหญิง (Er Nai Chun หรือ Mistress village) เนื่องจากมีหญิงสาวทำงานอยู่ที่สวนสนุก Great World ใกล้เตียงบารุและพวกเธอมักจะมาพักอาศัยกันที่นี่ ภายหลังสภาวะสงคราม การทำมาค้าขายเริ่มกลับมาทำให้พ่อค้าชาวจีนมีความร่ำรวยเพิ่มขึ้นจึงนิยมการเที่ยวกลางคืนและชื่นชมสาวงามนอกบ้าน

 

ภาพที่ 4: สวนสาธารณะ Kim Pong ยามเย็น

 

 

          เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนผ่านไป ผู้คนที่อยู่อาศัยก็เปลี่ยนแปลงตาม เตียงบาห์รูกลายเป็นแหล่งที่พักอาศัยที่น่าอยู่ ผู้คนที่อาศัยมีทั้งชาวต่างชาติที่มาทำงานที่สิงคโปร์ หลากหลายชาติ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ไทย ออสเตรเลีย อังกฤษ เป็นต้น และรวมถึงผู้คนที่อาศัยอยู่ดั้งเดิม อากง อาม่า อาอี๋ อาเจ๊ก ทั้งหลายที่ใช้ชีวิตวัยเกษียณ หลายคนก็ยังทำการค้าอยู่ที่ตลาด เช่น ขายอาหาร ขายของชำ หลายครั้งได้เห็นลูกหลานมาเยี่ยมตามบ้าน เป็นบรรยากาศที่อบอุ่นใจ ทุกเช้าจะมีผู้สูงอายุมารำไทเก๊กที่สวน Kim Pong พอตกเย็นจะมีผู้คนพาสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข ออกมาเดินเล่น และมีผู้ปกครองพาเด็กๆ มาวิ่งเล่น ออกกำลังกาย หลากหลายชาติ แต่อยู่รวมกันได้อย่างลงตัว

 

         สาเหตุที่เตียงบาห์รูเป็นแหล่งที่อยู่ที่ผู้คนหลงใหล เพราะว่าทำเลที่นี้ใกล้กับ Central Business District (CBD), Chinatown, Sentosa เดินทางไปไหนก็สะดวก มีทั้งสถานีรถไฟฟ้าและรถประจำทางให้เลือกหลายสาย บวกกับมีอาหารให้เลือกซื้อหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นคนที่ชื่นชอบการทำอาหารด้วยตนเองหรือชอบซื้ออาหารสำเร็จรูปกลับมาทานที่บ้าน ในมุมนักท่องเที่ยวชาวจีนสิงคโปร์มักไม่ค่อยยิ้มแย้ม แต่หากได้มาอาศัยอยู่ที่นี่แล้ว เพื่อนบ้านมักมีรอยยิ้มให้แก่กันอยู่เสมอ

 

        ก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด (Covid-19) ทุกๆ เสาร์อาทิตย์ต้นเดือน ภาครัฐสิงคโปร์จะจัดให้มี free walking tour โดยลงทะเบียนจากเว็บไซต์ก่อน แล้วไกด์จะพาเราเดินไปตามจุดสำคัญทางประวัติศาสตร์ ทุกจุดจะมีป้ายบอกความสำคัญเล่าเรื่องราว พร้อมแผนที่ว่าเราอยู่ที่จุดไหนแล้ว และเปิดให้เข้าชมหลุมหลบภัยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เสมือนเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชิวิต (Living Museum) ทุกจุดที่เราได้เดินไปผ่านอาคารบ้านช่องในอดีตจวบจนถึงการพบเห็นผู้คนที่ใช้ชีวิตจริงในปัจจุบัน แต่เป็นเรื่องน่าเสียดายตั้งแต่มีการระบาดของโรคโควิด ภาครัฐสิงคโปร์จึงมีความจำเป็นที่จะต้องยกเลิกกิจกรรมนี้ไป

 

         แม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาแค่หนึ่งปีครึ่งที่ผู้เขียนได้มาใช้ชีวิตที่เตียงบาห์รูแห่งนี้ได้สร้างความทรงจำและความประทับใจให้แก่ผู้เขียนอย่างมาก เชื่อว่าเตียงบาห์รูเป็นหนึ่งในย่านที่มีเสน่ห์ชวนให้หวนคิดถึงสิงคโปร์ หากสถานการณ์โรคระบาดดีขึ้น หวังว่าจะได้กลับไปสัมผัสกับบรรยากาศ มองเห็นความเป็นอยู่ และการเปลี่ยนแปลงไปของเตียงบาห์รู แหล่งพิพิธภัณฑ์ที่มีชิวิตแห่งนี้อีกครั้งแน่นอน

 

แหล่งอ้างอิงข้อมูล

https://www.nhb.gov.sg/~/media/nhb/files/places/trails/tiong%20bahru/tiongbahru%20(1).pdf

 

วิภาวรรณ ศิริเผ่าสุวรรณกุล

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ