Museum Core
หมากเตะ ก่อนจะเป็นฟุตบอล ในสารพัดวัฒนธรรมโบราณ
Museum Core
23 พ.ย. 65 877

ผู้เขียน : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

               กว่าที่โลกจะรู้จักกับการเล่น ‘ฟุตบอล’ ในความหมายอย่างปัจจุบัน จนกระทั่งทำให้เกิดมหกรรมการแข่งขันอย่าง ‘ฟุตบอลโลก’ ซึ่งมีการจัดขึ้นจนถึงครั้งที่กำลังเตะกันอยู่ในประเทศกาตาร์ก็นับเป็นครั้งที่ 22 แล้วนั้น ในประวัติวัฒนธรรมของดินแดนแห่งต่างๆ ในโลก ก็มีการเล่นกับเจ้าลูกบอล ด้วยกฎกติกาที่แตกต่างไปจากปัจจุบัน

               ชนพื้นเมืองดั้งเดิมในทวีปพบใหม่อย่างออสเตรเลีย คือ ชาว ‘อะบอริจิน’ นั้นมีเกมที่ส่วนใหญ่ใช้เท้าเตะลูกบอลเลี้ยงไว้บนอากาศ และห้ามให้บอลหล่นลงพื้นที่เรียกว่า ‘มาร์น กรุค’ (Marn Grook) บางครั้งก็เล่นเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ถึง 100 คนเลยทีเดียว โดยนักประวัติศาสตร์บางคนประเมินกันว่า มาร์น กรุค นั้นมีมาไม่ต่ำกว่า 3,000 ปีแล้ว ซึ่งก็ยังมีเล่นกันต่อมาจนถึงกระทั่งทุกวันนี้

               แต่วัฒนธรรมการเล่นกับลูกบอลที่น่าสนใจนั้นอยู่ในทวีปอเมริกากลาง ซึ่งทั้งในวัฒนธรรมโอลเม็ก และแอชเท็ค ต่างก็มีเกมบอล (ที่มี ‘ลูกบอล’ ทำขึ้นจากยางพาราผสมกับรากไม้เถามอร์นิ่งกลอรี่) เล่นกันบนลานสี่เหลี่ยมผืนผ้าในเกมบอลที่ว่าผู้เล่นของทั้งสองทีมต้องเลี้ยงบอลให้ลอยอยู่กลางอากาศก่อนส่งบอลเข้าไปยังแดนตรงกันข้าม

               ในสมัยนครเตโอติอัวกัน (ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศเม็กซิโก) รุ่งเรือง หรือประมาณ พ.ศ. 650-1300 เกมนี้ถูกพัฒนาไปเป็นแบบใช้ไม้ตี และไม่ให้ใช้อวัยวะของร่างกายส่วนไหนไปกระทบเลย ส่วนในอารยธรรมแอชเท็ค (ราว พ.ศ. 1850-2071) ได้มีการเพิ่มห่วงหินติดไว้ที่ด้านข้างของลาน คล้ายกับบาสเก็ตบอลหรือเน็ตบอล แต่ที่น่าสนใจที่สุดเห็นจะเป็นเกมบอลในอารยธรรมมายา (ระหว่าง พ.ศ. 1350-1950) ของอเมริกากลางที่นำเกมบอลพวกนี้ไปผูกเข้ากับตำนานการสร้างโลกเลยทีเดียว

               คัมภีร์โปปอล วูห์ ของมายาเล่าว่า กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีนักบอลสองคนพี่น้องถูกหลอกให้ไปแข่งบอลกับอมตเทพในยมโลก แน่นอนครับว่าแข่งกับเทพใครจะไปชนะ?

               และเมื่อแพ้แล้ว นักบอลคนหนึ่งก็เลยต้องถูกบูชายัญ โดยการนำศีรษะของเขาไปวางไว้ที่ใต้ต้นไม้ไปตามระเบียบ แต่เรื่องมันไม่จบแค่นั้น เพราะถึงจะเหลือแต่หัวของนักบอลคนนั้นกลับทำให้เทพธิดานางหนึ่งที่ผ่านมาโดยบังเอิญเกิดตั้งครรภ์ขึ้นมาได้เสียอย่างนั้น

               พระนางจึงต้องถูกเนรเทศมาโลกมนุษย์และได้ให้กำเนิดฝาแฝดคู่หนึ่ง เมื่อแฝดคู่นี้เติบโตขึ้นไปตามกาลเวลาได้กลายเป็นนักบอลที่เก่งฉกาจ ในที่สุดพวกเขาก็ได้ไปแข่งบอลที่ยมโลก แต่คราวนี้มนุษย์ (ลูกครึ่งเทพ) เป็นฝ่ายเอาชนะเทพเจ้าไปได้ พวกเขาจึงได้นำศพของลุง และพ่อของตนเองมาแล้วเอาศพไปเก็บไว้บนท้องฟ้ากลายเป็นพระอาทิตย์กับพระจันทร์ไป

                เรื่องราวจบลงเพียงเท่านี้ และแสดงให้เห็นว่าสำหรับชาวมายาแล้วเกมบอลของพวกเขาเป็นเกมการแข่งขันอันศักดิ์สิทธิ์มากกว่าที่จะเป็นแค่กีฬาเพียงอย่างเดียว

                เมื่อแรกที่โคลัมบัสสำรวจพบทวีปอเมริกา (โดยเข้าใจผิดว่า ที่นั่นคืออินเดีย) ก็ได้นำลูกบอลที่ทำจากยางพาราเป็นองค์ประกอบหลักพวกนี้กลับไปอวดด้วย แต่ยังไม่มีใครใส่ใจเท่าไหร่ เพราะไม่มีใครในยุโรปสมัยนั้นเห็นว่ามันเล่นกันยังไง? ต้องรอจนกระทั่งในปี พ.ศ. 2071 พวกสเปนพิชิตแอชเท็คได้ เอร์นัน กอร์เตส (Hernán Cortés) จึงได้นำตัวผู้เล่นและอุปกรณ์เกมบอลไปถวายความสำราญให้กับพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 5 ถึงราชสำนักสเปน

                แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังไม่ได้มีกติกาที่ห้ามใช้มือโดยเด็ดขาดเหมือนเกมฟุตบอลในปัจจุบันนี้อยู่ดี

 

ภาพที่ 1: ภาพการเล่นมาร์น กรุค ของชาวอะบอริจิน ถูกวาดไว้โดยชาวตะวันตกเมื่อ พ.ศ. 2400 

แหล่งที่มาภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/Marn_Grook

 

ภาพที่ 2: ภาพวาดจากจินตนาการรูปการแข่งขันบอล ในวัฒนธรรมมายา

แหล่งที่มาภาพ: https://www.chichenitza.com/mayan-ball-game

 

               วัฒนธรรมใหญ่อีกแห่งหนึ่งของโลกอย่าง ‘จีน’ นั้นก็มีหลักฐานการเล่นบอลเหมือนกัน เรียกว่า ‘คูจู’ (Cuju) ที่มีหลักฐานมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่นเมื่อปี พ.ศ. 337 เป็นอย่างน้อย ลูกบอลที่ผลิตขึ้นเพื่อใช้เล่นคูจูนั้นทำขึ้นมาจากลูกหนังยัดไส้ด้วยขนนก แม้จะเป็นเกมหมากเตะแต่ก็มีการใช้มือผลักและกระแทกกันอย่างรุนแรงได้จนดูคล้ายรักบี้มากกว่าฟุตบอล โดยกีฬาชนิดนี้ได้เสื่อมความนิยม และหายสาปสูญไปในช่วงราว พ.ศ. 1850

               ในขณะที่พวกโรมันก็มีกีฬาที่คล้ายกับรักบี้เช่นเดียวกับคูจู แต่ใช้ลูกบอลที่มีขนาดเล็กมากในการเล่นชาวโรมันเรียกว่า ‘ฮาร์ปาสตุม’ (Harpastum)

               จากภาพจิตรกรรมที่หลงเหลืออยู่แสดงให้เห็นว่าพวกโรมันใช้มือในการเล่นกีฬาชนิดนี้ แต่ก็เกี่ยวกับฟุตบอลที่ใช้เท้าเล่นอยู่ดีเพราะเป็นเกมที่ยังคงมีการสืบทอดมาจนกระทั่งหายไปในสมัยกลางของยุโรป มีการรื้อฟื้นขึ้นมาเล่นใหม่ที่เมืองฟลอเรนซ์ในประเทศอิตาลี ในช่วงศตวรรษที่ 16 (ราว พ.ศ. 2050-2150) โดยเรียกกีฬาชนิดนี้ด้วยภาษาอิตาเลียนว่า ‘giuoco del calcio fiorentino’ หรือ ‘เกมเตะของชาวฟลอเรนซ์’

               คำว่า ‘เตะ’ นี้เองที่แสดงให้เห็นว่าในครั้งนั้นมีการใช้เท้าเล่นเป็นหลัก คล้ายกับเกมฟุตบอลสมัยใหม่ และผิดแผกไปจากสมัยโรมัน แต่สุดท้ายเมื่อช่วงศตวรรษที่ 18 (ราว พ.ศ. 2250-2350) กีฬาชนิดนี้ก็ถูกยกเลิกไป และเป็นได้ว่าถูกสั่งห้ามไม่ให้เล่น จึงไม่สามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าเป็นจุดตั้งต้นของฟุตบอลสมัยใหม่ แต่ถึงอย่างนั้นมรดกตกทอดของการรื้อฟื้นกีฬาโบราณของโรมันโดยชาวฟลอเรนซ์ก็คือคำว่า ‘calcio’ ที่อ่านว่า ‘กัลโช่’ (และแปลตรงตัวว่า ‘เตะ’) ซึ่งกลายเป็นคำสำหรับใช้เรียกชื่อลีกฟุตบอลของประเทศอิตาลีในปัจจุบัน

              ดังนั้น จึงไม่นับว่ากีฬาโบราณทั้งหลายที่ร่ายยาวมาทั้งหมดนั้นเป็นบรรพชนสายตรงของเกมฟุตบอลสมัยใหม่ พูดง่ายๆ อีกทีก็ได้ว่า เกมฟุตบอลในทุกวันนี้ไม่ได้มีรากมาจากอารยธรรมในอดีตเลย

 

 

ภาพที่ 3: เด็กๆ กำลังเล่นคูจู ภาพจิตรกรรมสมัยราชวงศ์ซ่ง ราว พ.ศ. 1673-1703

แหล่งที่มาภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/Cuju

 

ภาพที่ 4: ภาพวาดปูนเปียก (fresco) รูปชาวโรมันกำลังเล่นฮาร์ปาสตุม

แหล่งที่มาภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/Harpastum

 

              ว่ากันว่า ฟุตบอลสมัยใหม่นั้นสืบทอดมาทางชนเผ่าเคลต์ (Celt) ทางชายขอบด้านตะวันตกของยุโรป (แต่ก็มีผู้สันนิษฐานไว้ด้วยว่า พวกเคลต์ไปเอากีฬาชนิดนี้มาจากการเล่นฮาร์ปาสตุมของโรมันอีกทอด)

              ลูกบอลของชาวเคลต์ทำจากกระเพาะหมูที่ถูกเป่าลมเข้าไป และมักจะ ‘เตะ’ (เพราะห้ามใช้มือจึงถูกเรียกว่าเป็นต้นกำเนิดของฟุตบอลสมัยใหม่) กันในท้องทุ่งที่ตั้งอยู่ระหว่างสองหมู่บ้านโดยไม่มีการกำหนดพื้นที่สนามชัดเจนนัก ซ้ำยังมีกติกาที่แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น เวลส์ สก็อตแลนด์ ไอร์แลนด์ คอร์นวอลล์ หรือบริตตานีย์ ก็มีกติกาไม่เหมือนกันไปหมด แต่เกมชนิดนี้ในสมัยก่อนถือว่าเป็นกีฬาของ ‘ไพร่’ ไม่ใช่เกมของผู้ดี

              เอกสารจากศตวรรษที่ 14 (ระหว่าง พ.ศ. 1850-1950) บางชิ้นเรียกกีฬาชนิดนี้ว่า ‘กีฬาชนบท’ ที่กลิ้งลูกบอลขนาดใหญ่ไปด้วยเท้า แต่ก็เป็นกีฬาที่เถื่อนถ่อย ไร้ความสง่างามยิ่งกว่าการละเล่นใดๆ แถมการแข่งขันดำเนินไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุดจนกว่ามีผู้เล่นบาดเจ็บ หรือเกิดความสูญเสียใดๆ ขึ้นเท่านั้น จึงไม่น่าแปลกอะไรที่ในหลายยุคหลายสมัย กษัตริย์ของอังกฤษจะมีพระราชโองการห้ามเล่นกีฬาชนิดนี้

              ถึงอย่างนั้นก็ตาม กีฬาประเภทนี้กลับถูกนำมาเล่นกันในโรงเรียนเอกชนชั้นสูงของอังกฤษ ในช่วงก่อน พ.ศ. 2350 เพื่อใช้ในการสร้างเสริมความเป็นชาย และดึงพลังหนุ่มออกจากความเป็นรักร่วมเพศและการประกอบอัตกามกิจ

              ในสมัยนั้นสถานศึกษาแต่ละแห่งยังมีกติกาที่แตกต่างกัน เช่น อีตัน กับชาร์เตอร์เฮาส์จะเล่นด้วยเท้า (แต่ก็ไม่ได้บังคับเสมอไป) ส่วนที่รักบี้กับมาร์ลเบอโรห์จะใช้มือเล่น จนกระทั่งมีการประชุมศิษย์เก่าจากโรงเรียนเอกชนเหล่านี้ขึ้นที่ผับภายในโรงแรมย่านลินคอล์นฟีลด์ (Lincoln’s Inn Fields) ชื่อ Freemason’s Tavern กรุงลอนดอน เมื่อปี พ.ศ. 2406 จึงได้มีการตรากฎเกณฑ์การเล่นฟุตบอลให้เป็นมาตรฐาน และเป็นจุดเริ่มต้นของฟุตบอลสมัยใหม่ที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้ เพราะก็เป็นการประชุมครั้งนี้แหละที่มีการตรากฎห้ามใช้มือพาบอล ส่วนคณะที่ตั้งกฎนี้เรียกว่า ‘Football Association’ หรือ ‘FA’ ซึ่งก็คือสมาคมฟุตบอลอังกฤษในทุกวันนี้ 

              และนี่ก็เป็นที่มาที่ทำให้ทั่วโลกต่างถือกันว่า “อังกฤษ” เป็นต้นกำเนิดของฟุตบอลสมัยใหม่ที่พัฒนามาจนการเป็นมหกรรมฟุตบอลโลกในทุกวันนี้นั่นเอง

 

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ