หลังการค้นพบทวีปอเมริกาของโคลัมบัสในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ชาวยุโรปก็เริ่มเสาะแสวงหาแหล่งทำกินในโลกใหม่ เกษตรกรผู้อพยพต้องการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจส่งออกไปยังประเทศแม่ ผืนดินอุดมสมบูรณ์ของอเมริกาเอื้อประโยชน์ในการปลูกพืชพันธุ์นานาชนิด อย่างไรก็ตาม ความต้องการบริโภคของชาวยุโรปภาคพื้นทวีปเพิ่มขึ้นทุกปี ชาวไร่ชาวนาและพ่อค้าคนกลางต่างต้องการโอกาสทำเงิน พวกเขามองหาแรงงานราคาถูกเพื่อทำงานให้กับตน แน่นอนว่างานในไร่เป็นงานหนัก พืชเศรษฐกิจที่เป็นที่ต้องการในยุโรปอย่างยาสูบ อ้อย และฝ้ายต้องการการดูแลตลอดเวลา รวมไปถึงกรรมวิธีซับซ้อนในการแปรรูปผลผลิตเพื่อส่งออก การว่าจ้างคนงานยุโรปด้วยกันจึงเป็นการได้ไม่คุ้มเสีย พวกเขาต้องการแรงงานที่แข็งแรง ควบคุมง่าย และไม่ต้องจ่ายค่าจ้าง สิ่งเดียวที่จะตอบโจทย์ความต้องการดังกล่าวได้คือแรงงานทาส กลุ่มคนที่ถูกลิดรอนอิสรภาพที่เป็นรากฐานการก่อร่างสร้างอารยธรรมโลกมาแต่โบราณ
แรกเริ่มเดิมที เหล่าผู้รุกรานเลือกใช้แรงงานคนท้องถิ่น พวกเขาบังคับชาวพื้นเมืองที่แพ้สงครามให้ทำงานในไร่และเหมืองให้ตน ทว่าสิ่งที่นักล่าอาณานิคมคาดไม่ถึงก็คือ โรคภัยที่ติดตัวมากับพวกเขาอย่างฝีดาษจะคร่าชีวิตคนพื้นเมืองที่ปราศจากภูมิคุ้มกันจนล้มตายเป็นใบไม้ร่วง เมื่อตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว ชาวยุโรปจึงมองหาแรงงานกลุ่มใหม่ พวกเขาพบกลุ่มคนที่ว่าในดินแดนที่ห่างไกลออกไปในทวีปแอฟริกา
ความต้องการแรงงานจำนวนมากทำให้การค้าทาสในเส้นทางการค้าแอตแลนติกเริ่มต้นขึ้น ชาวยุโรปแลกเปลี่ยนสินค้าฟุ่มเฟือยกับราชาและหัวหน้าเผ่าในแอฟริกาเพื่อได้มาซึ่งแรงงานคน พวกเขาเหล่านั้นถูกบรรทุกลงเรือเพื่อเดินทางไปทวีปใหม่โดยไม่ทราบว่าความโหดร้ายใดกำลังรอคอยตน ทาสผิวดำที่ถูกพรากจากแผ่นดินเกิดถูกใช้งานอย่างหนักในไร่ พวกเขาไม่ได้รับค่าแรง และบ่อยครั้งที่ถูกลงโทษอย่างไม่เป็นธรรม พวกเขาถูกบังคับให้ทำทุกอย่างเพื่อสนองความต้องการของผู้เป็นนาย และที่ร้ายที่สุดก็คือ บรรดานายทาสพยายามลบตัวตนที่พวกเขาเคยเป็น ชาวยุโรปตระหนักว่าการก่อกบฏจะเกิดขึ้นได้ง่ายหากคนในเผ่าอยู่รวมกัน ดังนั้นเมื่อทาสถูกจับมาจากเผ่าหนึ่ง พวกเขาจะถูกจับแยกก่อนจะถูกนายทาสเรียกด้วยชื่อใหม่ ทาสที่มาถึงอเมริกาถูกบังคับให้พูดภาษาเดียวกับผู้เป็นนาย และเมื่อพวกเขามีลูก เด็กๆ รุ่นใหม่จึงไม่มีโอกาสได้เรียนรู้วัฒนธรรมดั้งเดิมของตน บ่อยครั้งที่เหล่าทาสจำต้องละทิ้งความเชื่อเพื่อนับถือศาสนาสากล เป็นเหตุให้ชาวแอฟริกันพลัดถิ่นในทวีปอเมริกาจำนวนมากไม่ทราบถึงชาติกำเนิดที่แท้จริงของตัวเอง
การปฏิบัติที่ไร้มนุษยธรรมของนายทาสทำให้เหล่าทาสก่อกบฏอยู่เนืองๆ ทว่าการลุกฮือประสบความสำเร็จได้ยากเนื่องจากทาสผิวดำไม่มีอาวุธยุทโธปกรณ์ใดๆ ในการต่อสู้ บ่อยครั้งที่พวกเขาต้องใช้เครื่องมือการเกษตรหรือแม้แต่มือเปล่าเป็นอาวุธ อย่างไรก็ตาม ทาสหลายคนที่หลบหนีจากไร่ได้รวมตัวกันตั้งชุมชนอิสระในพื้นที่ที่ยากแก่การเข้าถึง ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึง 19 ชุมชนทาสหลบหนีมากมายถูกตั้งขึ้นทั้งในอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ และหมู่เกาะแคริบเบียน ทว่าแม้จะตั้งชุมชนได้แล้ว คนเหล่านั้นยังต้องอยู่อย่างหวาดกลัวว่าจะถูกกองทหารยุโรปทลายค่ายเพื่อจับทาสหลบหนีกลับไร่ ดินแดนอิสระส่วนใหญ่อยู่ได้ไม่นานเพราะถูกมองว่าเป็นภัยต่อความน่าเชื่อถือของผู้ลงทุนในประเทศแม่ ทว่าในบรรดาชุมชนเหล่านั้น มีชุมชนแห่งหนึ่งที่ยืนยงมาได้เกือบศตวรรษและมีสถานะเทียบเท่ากับอาณาจักร ดินแดนที่ว่าอยู่ในรัฐอะลาโกอาส (Alagoas) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิลในปัจจุบัน ดินแดนที่เคยเป็นที่หลบภัยของทาสนับหมื่นแห่งนี้มีชื่อว่า กิลอมโบ โดส ปาลมารีส (Quilombo dos Palmares) อาณาจักรเสรีชนที่ทุกคนเป็นนายตัวเอง
ภาพที่ 1: ภาพจำลองการใช้ชีวิตในชุมชนทาสหลบหนีในอเมริกาใต้
ที่มา: Dayane Borges. Quilombo dos Palmares - Historia, Origem, Localizagao e Principeis Lideres. (2020). [Online]. Accessed 2020 Dec 24. Available from: https://conhecimentocientifico.r7.com/quilombo-dos-palmares/
เดิมทีชาวโปรตุเกสเรียกพื้นที่นี้ว่า ปาลมารีส (ต้นปาล์ม) เนื่องจากมีปาล์มอยู่หนาแน่น ปาลมารีสเปลี่ยนสถานะเป็น กิลอมโบ หรือค่ายศึกในภาษามบุนดู (Mbundu) หลังจากนกังกา นซุมบี (Nganga Nzumbi) หรือกังกา ซุมบา (Ganga Zumba) ทาสหลบหนีจากไร่อ้อยกลายเป็นผู้นำกลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 อย่างไรก็ตาม ปาลมารีสมีชื่อเสียงในฐานะดินแดนของทาสหลบหนีมาตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 ทาสเหล่านั้นก่อตั้งโมกัมโบ (Mocambo) หรือหมู่บ้านผู้ลี้ภัยกระจายตามจุดต่างๆ ในดงปาล์ม โมกัมโบเหล่านี้ถูกกองทัพโปรตุเกสปราบปรามอย่างต่อเนื่อง กระทั่งในปี 1630 เมื่อสงครามระหว่างดัตช์และโปรตุเกสในดินแดนอาณานิคมมาถึงจุดแตกหัก เหล่านักล่าอาณานิคมต่างวุ่นวายกับการศึกจนทำให้การควบคุมทาสหละหลวม ทาสนับพันหลบหนีจากไร่ไปรวมตัวกันในปาลมารีส หนึ่งในนั้นมีทาสหนุ่มจากแองโกลานามว่ากังกา ซุมบาที่อ้างตนว่าสืบเชื้อสายมาจากกษัตริย์คองโก ซุมบากลายเป็นผู้นำทาสหลังจากหลบหนีมาได้ไม่นาน เขาและพี่น้องมีความสามารถในการวางกลยุทธ์การศึกเป็นเลิศ พวกเขาจัดตั้งกองกำลังเพื่อสู้กับชาวโปรตุเกสและดัตช์ รวมถึงช่วยเหลือทาสในไร่คนอื่นๆ ให้หลบหนีมารวมกลุ่มกับตน ไม่นานปาลมารีสก็กลายเป็นอาณาจักรขนาดย่อมโดยมีกังกา ซุมบาเป็นราชาในปีค.ศ. 1670 โดยประมาณ เขาปกครองดินแดนที่มีพื้นที่กว่า 3 พันตารางไมล์และประชากรราว 2 ถึง 3 หมื่นคน ไม่เพียงแต่ทาสหลบหนีเท่านั้น ปาลมารีสกลายมาเป็นที่พักพิงสำหรับคนนอกกฎหมาย ทั้งอดีตทาส ชาวพื้นเมือง หรือแม้แต่ทหารยุโรปหนีทัพ เรียกได้ว่าเป็นดินแดนอิสระของผู้ไม่ยอมก้มหัวให้เจ้าอาณานิคมอย่างแท้จริง
ภาพที่ 2: รูปหล่อของซุมบี วีรบุรุษแห่งปาลมารีส
ที่มา: Elza Fiuza. Busto de Zumbi dos Palmares em Brasilia. (2006). [Online]. Accessed 2020 Dec 24. Available from:https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/5/5c/Zumbidospalmares.jpg
ทว่า อาณาจักรเสรีชนแห่งนี้ตกเป็นเป้าการโจมตีของโปรตุเกสและดัตช์อยู่หลายครั้ง แม้จะพยายามต่อสู้อย่างถึงที่สุด ทว่าทาสจำนวนมากโดยเฉพาะเด็กๆ ก็ถูกลักพาตัวไปทำงานในไร่ หนึ่งในนั้นคือซุมบี (Zumbi) หลานชายของกังกา ซุมบาที่ถูกจับตัวไปตอนอายุ 5 ขวบ ซุมบีถูกเลี้ยงดูโดยมิชชันนารีโปรตุเกส ทำให้สามารถอ่านเขียนภาษาโปรตุเกสและละตินได้เป็นอย่างดี เขาหนีกลับไปที่ปาลมารีสในปี ค.ศ.1670 และกลายเป็นที่นิยมในหมู่ทาสอย่างรวดเร็ว ซุมบีได้รับตำแหน่งผู้นำทัพภายใต้การบัญชาการของกังกา ซุมบา อย่างไรก็ตาม ซุมบาที่เหนื่อยล้าจากการต่อสู้ต้องการอยู่อย่างสงบ ทำให้เขาตอบรับข้อเสนอสงบศึกของโปรตุเกสแต่โดยดี ทว่าซุมบีไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าวที่ว่า ปาลมารีสต้องส่งตัวทาสหลบหนีทุกคนคืนนายจ้าง และทหารโปรตุเกสจะยุติการโจมตีเพื่อปล่อยให้ชาวเมืองอยู่อย่างสงบสุข เขาไม่ไว้ใจพวกคนขาว รวมถึงยึดถืออุดมการณ์ดั้งเดิมของปาลมารีสที่ต้องการปลดปล่อยพี่น้องทาสทุกคนให้เป็นอิสระ ซุมบีสังหารกังกา ซุมบาในปีค.ศ. 1678 และสถาปนาตนเป็นผู้นำคนใหม่ของปาลมารีส เขาต่อสู้กับทัพโปรตุเกสอย่างกล้าหาญจนกระทั่งถูกประหารชีวิตด้วยการตัดศีรษะในปีค.ศ. 1695 นับแต่นั้นมา อาณาจักรปาลมารีสก็ล่มสลายไปพร้อมกับความหวังของเหล่าทาสที่ต้องการเป็นไทแก่ตน
ภาพที่ 3: คาโปเอรา ศิลปะการต่อสู้ที่คิดค้นโดยทาสปลดแอกในบราซิล
ที่มาภาพ: Johann Moritz Rugendas. Capoeira or the Dance of War (1835)
แม้ว่าปาลมารีสจะยืนยงได้ไม่ถึงศตวรรษ แต่อุดมการณ์ของผู้นำและเหล่าทาสยังคงอยู่ ซุมบีกลายเป็นวีรบุรุษผู้ปลดแอกทาสในอเมริกาใต้ที่ถูกนับถือตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ความกล้าหาญของเขาทำให้ทาสมากมายลุกขึ้นก่อกบฏในเวลาต่อมา มรดกตกทอดที่สำคัญอย่างหนึ่งจากปาลมารีสที่ไม่อาจละเลยได้คือ คาโปเอรา (Capoeira) หรือศิลปะการต่อสู้มือเปล่าที่ผสมผสานการป้องกันตัวเข้ากับกายกรรมและการเต้นรำ คาโปเอราถือกำเนิดขึ้นโดยทาสหลบหนีในบราซิลที่ปราศจากอาวุธ พวกเขาฝึกฝนการต่อสู้ภายใต้หน้าฉากของการร้องรำเพื่อไม่ให้เจ้านายสงสัย ปัจจุบันคาโปเอราถูกยูเนสโกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Heritage) ของประเทศบราซิล ทว่านอกจากท่วงท่าที่งดงามแล้ว ทั้งคาโปเอราและกิลอมบา โดส ปาลมารีสต่างก็เป็นเครื่องยืนยันว่าเหล่าทาสที่พลัดพรากจากแผ่นดินไม่เคยก้มหัวให้เจ้าอาณานิคม ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะพยายามเท่าใด พวกเขาก็ไม่อาจฆ่าความเป็นคนและจิตวิญญาณเสรีชนของเพื่อนมนุษย์ และสำหรับชาวแอฟริกันพลัดถิ่นในบราซิล กิลอมโบ โดส ปาลมารีสจะอยู่ในความทรงจำของพวกเขาในฐานะดินแดนแห่งเสรีที่บรรพบุรุษแลกมาด้วยเลือดเพื่อให้ลูกหลานได้มีชีวิตอยู่อย่างสมภาคภูมิตราบนานเท่านาน
กฤษณรัตน์ รัตนพงศ์ภิญโญ